สิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์
 
สายรุ้งที่ฉันฝันหา: ขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall ที่แอฟริกาใต้

โดย นฤมล เตือนภักดี 19 พฤษภาคม 2564


สายรุ้งที่ฉันฝันหา: ขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall ที่แอฟริกาใต้

ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในแอฟริกาใต้
     ยุคแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้เริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ. 1948 โดยพรรคการเมืองแห่งชาติ (National Party: NP) นำโดย
กลุ่มชาวแอฟริคานเนอร์ (Afrikaners) ซึ่งเป็นกลุ่มชาวดัตช์ที่มาตั้งถิ่นฐานในแอฟริกาใต้นับตั้งแต่ยุคอาณานิคม พรรคการเมืองแห่งชาติเป็นพรรคการเมืองขวาจัดที่นิยมแนวคิดความเหนือกว่าทางชาติพันธุ์ของคนผิวขาว (White Supremacism) ในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1960 แนวความคิดเรื่องการแบ่งแยกสีผิวและชาติพันธุ์ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นอย่างบิดเบือนเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่คนผิวขาวเป็นสำคัญ และนำมาใช้เป็นหลักในการออกแบบกฎหมายและนโยบายของรัฐในทุกมิติเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพและกดขี่สภาวะความเป็นอยู่ของคนผิวสีซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดดังกล่าวยังถูกนำไปใช้เพื่อให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามคนผิวสีอีกด้วย เช่นนี้ แอฟริกาใต้ภายหลังการประกาศเอกราชจึงกลายเป็นรัฐเผด็จการของคนผิวขาวที่มีรูปแบบการปกครองบนแนวคิดแบ่งแยกชนชั้นจากสีผิวที่เรียกว่า Apartheid
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นมรดกชิ้นสำคัญของการปกครองแบ่งแยกสีผิวและฝังรากลึกลงในสังคมแอฟริกาใต้ ตัวอย่างเช่น ด้วยกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมส่งผลให้ชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวถือครองที่ดินและทรัพย์สินในประเทศมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนผิวสีต้องอาศัยอยู่อย่างยากลำบากในเขตปกครองตนเองที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่แห้งแล้งทั่วประเทศที่เรียกว่า "บันตูสถาน" (Bantustan) สภาพความเหลื่อมล้ำดังกล่าวยังคงปรากฏชัดเจนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาอาชาญกรรมความรุนแรงในสังคมแอฟริกาใต้
ในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของแอฟริกาใต้ ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ พวกเขาเรียกร้องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ผ่านประเด็นระบบการศึกษา การประท้วงของนักศึกษาครั้งสำคัญคือ การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายการศึกษาบันตู ปี ค.ศ. 1953 (Bantu Education Act 1953) ที่ระบุให้ใช้แนวคิดแบ่งแยกสีผิวในระบบการศึกษาทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลสถาบันการศึกษาของคนผิวสีขึ้นเป็นการเฉพาะ รัฐบาลในขณะนั้นเชื่อว่าคนผิวสีในฐานะชนชั้นแรงงานไม่มีความสามารถเพียงพอและไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษาในระดับสูง ดังที่ Dr. H.F. Verwoerd รัฐมนตรีกระทรวงกิจการชนเผ่าพื้นเมืองกล่าวไว้ในปีค.ศ. 1953 ความว่า

“คนพื้นเมืองต้องถูกสอนตั้งแต่วัยเยาว์ว่า ความเท่าเทียมกับคนยุโรปนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีไว้สำหรับพวกเขา มันไม่มีทางที่เด็กชาวบันตู (คนผิวสีและชาวพื้นเมือง) จะเติบโตขึ้นมาเป็นอะไรได้มากกว่าการเป็นแรงงาน”

ผลกระทบสำคัญจากกฎหมายฉบับนี้คือคนผิวสีที่เติบโตมาในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1980 ขาดทักษะความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาตนเองให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายมหาศาล การประท้วงต่อต้านกฎหมายการศึกษาบันตูของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress: ANC) ร่วมกับนักศึกษาในปีค.ศ. 1955 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอื่น ๆ ในเวลาต่อมาอีกด้วย



ภาพ: School children protesting against the Group Areas Act in1955

ที่มา: South Africa History Archive (SAHA)

ในทศวรรษที่ 1970 และในช่วงปีค.ศ. 1990-1994 การลุกฮือของทุกกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อต่อต้านระบบการแบ่งแยกสีผิวเป็นไปอย่างเข้มข้น การลุกฮือครั้งใหญ่ของนักศึกษาในชุมชนโซเวโต (Soweto) ในปีค.ศ. 1976 นักศึกษาราว 10,000 คน ได้รวมตัวกันเพื่อประท้วงคำประกาศของกรมการศึกษาบันตูที่ประกาศให้ภาษาแอฟริคานส์ (Afrikaans) เป็นภาษาหลักในระบบการเรียนการสอนของแอฟริกาใต้ การประท้วงครั้งนี้นำโดยองค์การนักศึกษาแห่งแอฟริกาใต้ (South African Student’s Organization: SASO) ซึ่งพัฒนามาจากกลุ่มการเคลื่อนไหวสำนึกความเป็นผิวสี (Black Consciousness Movement) ในทศวรรษ 1970 ที่เชิดชูแนวคิดการพึ่งพาตนเอง ความเป็นอิสระและความภาคภูมิของคนผิวสี


ภาพ: 1976 Soweto Uprising  ที่มา: AP Images

การเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อมาโดยการนำแนวคิดของการเคลื่อนไหวในอดีตมาพัฒนาต่อยอด เช่น การประท้วงต่อต้านกฎหมายการศึกษาบันตูในปีค.ศ. 1955 มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา (Equal Education (EE) Movement) ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 2008 นักศึกษากลุ่มนี้ร่วมกับชุมชนคนผิวสีได้ออกมากดดันรัฐบาลและผู้บริหารสถาบันการศึกษาทั้งหลายให้ออกมารับผิดชอบต่อความความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาของแอฟริกาใต้ ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เด็กมัธยมจำนวนมากยังออกมาร่วมเรียกร้องการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงอีกด้วย อดีตแกนนำ EE อย่าง แบรด บร็อคแมน (Brad Brockman) นิยามกลุ่มของตนเองว่าเป็น “Equaliser” พวกเขาทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเยาวชนในแต่ละชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนและถกเถียงกันในปัญหาสำคัญของนักเรียนนักศึกษาเป็นประจำทุกสัปดาห์

ตลอดระยะเวลากว่า 46 ปีของการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิว เยาวชนคนรุ่นใหม่ยังคงเดินหน้าต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตตนเอง จนกระทั่งการปกครองโดยพรรคการเมืองแห่งชาติเริ่มสั่นคลอนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990เริ่มตั้งแต่การปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลา ในปีค.ศ. 1990 การยกเลิกการควบคุมพรรค ANC และพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งแรกในปีค.ศ. 1994 และตามมาด้วยชัยชนะของแมนเดลา คำกล่าวรับตำแหน่งของแมนดาลากลายเป็นหมุดหมายสำคัญว่าประเทศกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและจุดประกายความหวังให้กับประชาชนชาวแอฟริกาใต้

“ช่วงเวลาแห่งการเยียวยาบาดแผลมาถึงแล้ว ช่วงเวลาที่จะประสานความแตกต่างที่แบ่งแยกเรามาถึงแล้ว ช่วงเวลาของการสร้างสรรค์มาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว ในที่สุดพวกเราก็ประสบความสำเร็จในการปลดแอกทางการเมือง พวกเราสาบานว่าจะปลดเปลื้องประชาชนทุกคนจากพันธนาการแห่งความยากจน การกดขี่ ความทุกข์ยาก การเลือกปฏิบัติทางเพศและอื่น ๆ พวกเราเดินมาถึงบันไดขั้นสุดท้ายของอิสรภาพแล้ว ซึ่งเกี่ยวเนื่องอย่างยิ่งกับสันติภาพ พวกเราให้คำมั่นว่าจะสร้างสันติภาพที่สมบูรณ์ ยุติธรรมและยั่งยืน…เราเดินมาสู่ข้อตกลงว่าเราจะสร้างสังคมที่ประชาชนทุกคน ไม่ว่าขาวหรือดำจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างภาคภูมิ ปราศจากความหวาดกลัวในหัวใจ มั่นใจในสิทธิอันเท่าเทียมไปจนถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชาติสายรุ้งแห่งนี้จะพบกับสันติสุขภายในชาติและกับประชาคมโลก”

ในอีกแง่หนึ่ง แมนเดลากลับถูกวิจารณ์ว่า การหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงความเลวร้ายในยุคการแบ่งแยกสีผิวสะท้อนถึงความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจของผู้นำในการยอมรับความบิดเบี้ยวเชิงโครงสร้างของชาติในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างที่แดเนียล เฮอร์วิทซ์ (Daniel Herwitz) ถกเถียงไว้ในหนังสือ Heritage, Culture, and Politics in the Postcolony ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของแอฟริกาใต้คือเรื่องเล่าที่เน้นย้ำเรื่องความประนีประนอมทางสังคมและการสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่การสร้างชาติที่โอบกอดความหลากหลาย (Rainbow Nation) ไม่ใช่การเรียกร้องหรือทวงคืนความยุติธรรม

หลังจากแมนเดลาขึ้นเป็นประธานาธิบดี การแบ่งแยกสีผิวและความเหลื่อมล้ำอันเป็นผลผลิตของยุคแบ่งแยกสีผิวยังคงตกค้างและปรากฎอยู่ในทุกมิติของสังคม กลายเป็นความท้าทายแรกของแอฟริกาใต้ยุคใหม่ ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว การต่อสู้เพื่อรื้อถอนมรดกของยุคแบ่งแยกสีผิวและยุคอาณานิคมยังคงดำเนินต่อไปเพื่อเรียกคืน “เสียง” ของผู้ถูกกดขี่ในสังคมประชาธิปไตย หนึ่งในนั้นคือภารกิจการรื้อถอนรูปปั้นและอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของผู้ล่าอาณานิคมและคนผิวขาวในฐานะวีรบุรุษของชาติ

การเคลื่อนไหวเพื่อการรื้อถอนรูปปั้นเซซิล โร้ดส์ (Cecil Rhodes) ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเคปทาวน์ (University of Cape Town (UCT)) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรื้อสร้างเรื่องเล่าของชาติขึ้นมาใหม่โดยเน้นย้ำเรื่องความเท่าเทียม ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานในสังคมแอฟริกาใต้

ต้นกำเนิดขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall

ต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ชูมานิ แม็กเวล (Chummani Maxwele) เดินถือถังอุจจาระที่เก็บมาจากชุมชนที่อยู่อาศัยของคนผิวสีมาสาดใส่รูปปั้นเซซิล โร้ดส์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางมหาลัยวิทยาลัยเคปทาวน์ (การประท้วงนี้ถูกเรียกว่า Poo protest) โร้ดส์ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักจักรวรรดินิยมที่มีความทะเยอทะยาน เขาคือผู้ก่อตั้งประเทศโรดิเซีย (Rhodesia) (ซึ่งปัจจุบันคือประเทศซิมบับเวและแซมเบีย) และยังเป็นเจ้าของที่ดินของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งนี้ หากแต่นี่ไม่ใช่ภาพในความทรงจำของคนผิวสีที่มีต่อโร้ดส์เลยแม้แต่น้อย

 


ที่มา: South African History Online

แม็กเวลเป็นแกนนำคนสำคัญของขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall (RMF) เขาเป็นลูกชายของคนขุดแร่ฐานะยากจนในจังหวัดอีสเทิร์นเคป (Eastern Cape) เช้าวันหนึ่งในปีค.ศ. 1994 แม็กเวลในวัย 10 ขวบ ขณะที่กำลังวิ่งเล่นอยู่ได้ยินเสียงเครื่องบิน ที่กำลังบินวนรอบบริเวณชุมชน พร้อมโปรยใบปลิวที่ตกแต่งด้วยสีดำ เหลืองและทองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรค ANC เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้แมนเดลาในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้ที่คนผิวสีจะมีสิทธิออกเสียง เสียงกังวาลของเครื่องบินลำนั้นไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำของเขา มันเป็นเสียงอันทรงพลังที่มีนัยยะถึงความหวังและคำสัญญาว่าการขึ้นมาของพรรค ANC จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ประชาชนทุกคนจะมีอิสระและความเท่าเทียมในการแสวงหาหนทางของชีวิตที่แตกต่างจากยุคก่อน

วันเวลาผ่านไป ครอบครัวของแม็กเวลย้ายมาอาศัยอยู่ในชุมชนชานเมืองของเคปทาวน์ชื่อเดลฟท์ (Delft) เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า แต่กลับกลายเป็นว่าชุมชนในเดลฟท์ รวมไปถึงชุมชนแออัดใกล้เคียงอย่างกาเยลิตชา (Khayelisha) ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในเคปทาวน์ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่กว่าที่คิดไว้ คนในชุมชนส่วนใหญ่ตกงาน ขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง มีปัญหาโรคติดต่อโดยเฉพาะโรคเอดส์ อีกทั้งยังมีระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่ ผู้คนยังขับถ่ายตามท้องถนน และเมื่อเข้าฤดูฝน สถานการณ์ทุกอย่างที่นี่จะยิ่งเลวร้ายลง แม็กเวลรู้สึกตกตะลึงกับสิ่งที่พบเห็นในเมืองเคปทาวน์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เขามาทำงานที่ร้านวูลเวิร์ธ (Woolworth) ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เกตระดับพรีเมี่ยมในเมืองเคปทาวน์ เขาทำงานในย่านแคลร์มอนต์ (Claremont) ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนขาวหรือที่เรียกว่า “leafy suburbs” ชุมชนที่มีต้นไม้ร่มรื่นสวยงาม ในขณะที่คนในชุมชนต่างชื่นชมเขาที่ได้มาทำงานในย่านหรู เขากลับพบว่าตนเองเป็นเพียงแค่พนักงานที่ให้บริการลูกค้าผิวขาวในร้านค้าที่ตนเองไม่มีปัญญาซื้อข้าวของ ในย่านที่ตนเองไม่มีวันได้มาอยู่อาศัย พ่อของเขายังคงทำงานในเหมือง แม่ของเขา รวมถึงแม่ของใครหลาย ๆ คนยังคงทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านของคนผิวขาว ในทุก ๆ วันที่เขามาทำงาน ความรู้สึกขมขื่นของเขายิ่งเพิ่มมากขึ้น

เสียงของเครื่องบินลำนั้นในปีค.ศ. 1994 ยังคงชัดเจน ทว่าอิสรภาพและความเท่าเทียมที่สัญญาไว้กลับลางเลือนและเป็นแค่ภาพลวงตา ประสบการณ์ของแม็กเวลไม่ต่างจากประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ผิวสีจำนวนมากในแอฟริกาใต้ กลุ่มคนรุ่นนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘Born frees’ พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ตรงกับความโหดร้ายทารุณของระบบแบ่งแยกสีผิว แต่รับรู้เรื่องราวผ่านคำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อน จากในสื่อและจากบทเรียน คนกลุ่มนี้ถือเป็นผลผลิตจากการต่อสู้ของคนรุ่นก่อน เป็นความภาคภูมิใจและเครื่องยืนยันความสำเร็จของการต่อสู้อันยากลำบาก หากแต่ในความเป็นจริง คนรุ่นใหม่ยังคงเผชิญหน้าอยู่กับความเหลื่อมล้ำและการแบ่งแยกสีผิวที่ฝังรากลึกในสังคมแอฟริกาใต้ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป พวกเขายังคงมีคุณภาพชีวิตไม่ต่างไปจากรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา

มหาวิทยาลัยเคปทาวน์เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของแอฟริกาใต้ที่นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวและคนผิวสีที่มาจากกลุ่มชนชั้นกลาง ด้วยหลักสูตรการศึกษาแบบตะวันตก สถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่สวยงาม มหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เยรูซาเล็ม’ ของคนผิวสีรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันว่าจะได้เข้ามาศึกษาเพื่อเป็นบันไดทางสังคมไปสู่อนาคตที่ดีกว่า หากแต่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยกลับไม่เป็นดั่งฝัน มีคนกล่าวว่า เมื่อคุณได้เข้ามาศึกษาที่นี่ คุณจะไม่มีวันหลงลืมรากเหง้าของคุณได้อีกเลย เพราะทุกกิจกรรมทางสังคมและวิธีการปฏิบัติของผู้คนที่นี่ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ มันจะคอยย้ำเตือนเราอยู่เสมอว่าเราคือใคร ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณได้ก้าวเข้าไปในโรงอาหาร คุณจะพบว่ามีโต๊ะคนขาว โต๊ะคนดำ (white table, black table) บริเวณต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยก็มีมุมคนขาวและมุมคนดำ (white corner, black corner) การแบ่งแยกในเชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยธรรมชาติตามการรวมกลุ่มทางสังคมภายในมหาวิทยาลัย

ต่อมาเราจะเริ่มเรียนรู้ว่ากิจกรรมทางสังคมชนิดใดเป็นของคนผิวขาวหรือของคนผิวสี เช่น คนผิวขาวนิยมเล่นกีฬาบางประเภทที่คนผิวสีไม่มีทักษะ ยิ่งไปกว่านั้น การกีดกันและแบ่งแยกสีผิวยังถูกปฏิบัติอย่างไม่รู้ตัวผ่านคำพูดและพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การที่คนผิวขาวพูดว่า “ฉันดีใจที่ได้มีเพื่อนผิวสี” “ฉันเองก็มีเพื่อนผิวสีนะ” ราวกับว่าการมีเพื่อนผิวสีนั้นเป็นการทำคุณงามความดีแบบหนึ่งในสังคมแอฟริกาใต้ อีกทั้งอาจารย์ผิวสีจำนวนหนึ่งยังถูกประเมินว่าสอนไม่ดี เพียงเพราะพวกเขามีสำเนียงการพูดแบบคนผิวสี (Black accent) และนี่เองคือวิธีการที่แนวคิดการแบ่งแยกสีผิวได้ทำงานอย่างแยบยลและเป็นระบบในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ (institutional racism)


 ที่มา: University of Cape Town 

 สิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือภาพจำลองของสังคมแอฟริกาใต้ในปัจจุบัน ที่การแบ่งแยกสีผิวเผยโฉมให้เราเห็นต่อหน้าต่อตาอย่างเป็นปกติ ไม่ว่าจะในร้านอาหาร ผับบาร์ สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาล การแบ่งแยกชนชั้นผ่านสีผิวที่ปรากฏอยู่ในทุกอณูของสังคมเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่รุนแรง และอาจรวมไปถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมอีกด้วย


กระแส Rhodes Must Fall

ในเช้าวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 2015 แม็กเวลนำอุจจาระมาสาดใส่รูปปั้นของ Rhodes พร้อมกับตะโกนว่า “วีรบุรุษและบรรพบุรุษของพวกเราอยู่ที่ไหน?” การประท้วงของแม็กเวลได้กระตุ้นความรู้สึกโกรธเกรี้ยวของคนผิวสีรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ไม่ต่างจากเขา เริ่มมีการรวมตัวของนักศึกษาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการฉีดพ่นภาพกราฟฟิกบริเวณรูปปั้นเซซิล โร้ดส์ การคุมรูปปั้นด้วยถุงขยะ พร้อมไปกับการขับร้องบทเพลงของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านระบบแบ่งแยกสีผิวในอดีต เสียงกลองกระหึ่มไปทั่วมหาวิทยาลัย มีการบุกยึดอาคารเรียน รวมไปถึงการปราศรัยให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคการแบ่งแยกสีผิว


 ที่มา: University of Cape Town

พวกเขากล่าวว่า รูปปั้นนี้คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าสถาบันแห่งนี้เชิดชูแนวคิดอาณานิคมและวัฒนธรรมของคนผิวขาวมากเพียงใด หลักสูตรที่มีแนวความคิดแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) สภามหาวิทยาลัยที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ในขณะที่การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาผิวสีนั้นกลับไม่ได้รับความใส่ใจ พวกเขาจึงเรียกร้องให้รื้อถอนรูปปั้นเซซิล โร้ดส์และเรียกขบวนการเคลื่อนไหวนี้ว่า Rhodes Must Fall (RMF)

แม็กซ์ ไพรซ์ (Max Price) อธิการบดีในขณะนั้นรีบบินกลับจากการประชุมที่บังคลาเทศในทันที พร้อมมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทุกคนออกจากมหาวิทยาลัย เขายอมรับว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษาผิวสีนั้นชอบธรรม มันไม่ใช่เพียงการรื้อถอนรูปปั้นแต่พวกเขากำลังพูดถึงสิ่งที่กว้างกว่านั้น กล่าวคือ ความรู้สึกแปลกแยกในสถาบันการศึกษา การประท้วงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นกระแสไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ เช่น Stellenbosch และ Witwatersrand จนในที่สุด รูปปั้นเซซิล โร้ดส์ ก็ถูกรื้อถอนออกในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2015 หลังจากตั้งอยู่ใจกลางมหาลัยวิทยาลัยเคปทาวน์ยาวนานถึง 81 ปี


ที่มา: Rodger Bosch/ AFP

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2015 การเคลื่อนไหว Rhodes Must Fall ได้จุดประกายการเคลื่อนไหวสำคัญอย่าง “Fees Must Fall” ที่เรียกร้องให้ลดค่าศึกษาเล่าเรียน รวมไปถึงการมีนโยบายเรียนฟรีสำหรับนักศึกษายากจน เพื่อให้เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้อย่างเท่าเทียม สถานการณ์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น นักศึกษาราว 10,000 คน เดินขบวนไปยังรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลในกรุงพริทอเรีย จนในที่สุดประธานาธิบดีจาคอบ ซูม่า (Jacob Zuma) ได้ออกมาประกาศระงับการขึ้นค่าเทอมของทุกสถาบันการศึกษา อย่างไรก็ตาม ข้อกังขาที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหว Rhodes Must Fall และ Fees Must Fall ว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่ชายผิวสีเป็นสำคัญได้นำไปสู่การเคลื่อนไหว “Patriarchy Must Fall” ที่ต้องการรื้อถอนระบอบชายเป็นใหญ่ โดยสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงของผู้หญิง รวมไปถึงกลุ่ม LGBTQ ในสังคมแอฟริกาใต้


ที่มา: This Sustainable Life

กระแสต่อต้านขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall

“อะไรที่เป็นอดีต จงปล่อยให้มันเป็นอดีต” (What is verby is verby)

ในวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 1994 แมนเดลาเดินออกมาที่ระเบียงทำเนียบ จับมือทักทายเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก (Frederik Willem de Klerk) ประธานาธิบดีผิวขาวคนสุดท้ายของแอฟริกาใต้ พร้อมกับตะโกนเป็นภาษาแอฟริคานส์มีใจความดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ในขณะที่หลายคนเห็นว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษานั้นสมเหตุสมผลและมีความชอบธรรม แต่หลายฝ่ายยังคงไม่เห็นด้วยกับท่าทีอันแข็งกร้าวของนักศึกษา อดีตนักเคลื่อนไหวหลายคนเห็นว่า ขบวนการนักศึกษานั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงและกำลังดึงสังคมแอฟริกาใต้ให้กลับไปยังจุดเดิมด้วยการทำลายความสงบสุขและสันติภาพที่คนรุ่นก่อนได้ทุ่มเทต่อสู้เพื่อให้ได้มาอย่างยากลำบาก รวมไปถึงความเคลือบแคลงสงสัยความรู้สึกเจ็บปวดของคนรุ่น ‘born frees’ ว่าเหตุใดจึงรู้สึกโกรธเกรี้ยวและเจ็บปวดกับระบบแบ่งแยกสีผิวทั้งที่ตนเองไม่ได้ผ่านประสบการณ์เหล่านั้น ผู้ใหญ่บางคนพูดด้วยท่าทีดูแคลนว่าเด็กรุ่นใหม่เพียงต้องการแสวงหาตัวตนโดยใช้ความเจ็บปวดของคนรุ่นพ่อแม่เป็นเครื่องมือ ขณะที่บางคนพูดด้วยความห่วงใยว่าเรื่องราวในอดีตนั้นเลวร้ายและไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ต้องมารับรู้ พวกเขาควรเป็นอิสระจากอดีตอันเจ็บปวดเหล่านั้น

ในระหว่างการประชุมสภามหาวิทยาลัยเคปทาวน์ครั้งหนึ่ง ประธานสภาอย่าง มุขมนตรี จอนกอนกูลู ดุนกาเน่ (Archbishop Njongonkulu Ndungane) อดีตนักเคลื่อนไหวต่อต้านระบบแบ่งแยกสีผิวที่ถูกคุมขังพร้อมกับแมนเดลาที่ Robben Island ได้ว่ากล่าวกลุ่มนักศึกษาที่ปีนขึ้นมาเปิดหน้าต่างห้องประชุมด้วยท่าที่คึกคะนองเพื่อฟังการประชุมว่า “ใครกันที่แต่งตั้งให้คุณมาเป็นผู้พิทักษ์ดูแลความโกรธเกรี้ยวของคนผิวสี? เพียงเพราะคุณเป็นคนผิวสีเหมือนกันอย่างนั้นเหรอ?” ท่าทีดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับขบวนการ Rhodes Must Fall ของคนรุ่นใหม่ในฐานะตัวแทนหรือกระบอกเสียงของคนผิวสีในสังคมแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนรุ่นใหม่ยืนยันว่าการแบ่งแยกสีผิวในยุคปัจจุบันนั้นเลวร้ายกว่าในอดีตมาก มันแยบยลและถูกละเลยโดยผู้คนส่วนใหญ่ แม้แต่ผู้ที่เคยเป็นอดีตนักเคลื่อนไหวมาก่อน พวกเขาเพียงเข้ามาสานต่องานที่ยังไม่เสร็จของคนรุ่นก่อน ภารกิจของพวกเขาคือ การขุดรากถอนโค่นการแบ่งแยกสีผิวที่กัดกินสังคมแอฟริกาใต้มาเป็นเวลานาน

สายรุ้งที่ไม่มีอยู่จริง

ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่ตั้งอยู่บนข้อถกเถียงเรื่องสันติภาพและความยุติธรรม (Peace and Justice Dilemma) ว่าอะไรคือเป้าหมายหลักสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงไปสู่สังคมที่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ที่ปราศจากความรุนแรงและเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล พรรคการเมืองอย่าง ANC รวมไปถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นก่อน มีอุดมการณ์อันแรงกล้าในการสร้าง “ชาติสายรุ้ง” (Rainbow nation) ที่เน้นย้ำเรื่องศีลธรรมของการให้อภัย เพื่อสร้างความสมานฉันท์ปรองดองและสันติภาพภายในสังคม จนทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่รัฐสนับสนุนและเรียกร้องให้คนผิวสีให้อภัยกับการกระทำอันโหดร้ายของคนผิวขาวในอดีตอย่างไม่มีเงื่อนไข (unconditional forgiveness) นั้น เป็นการผลักภาระทางศีลธรรมให้กับเหยื่อ (moral responsibility of victim) และสร้างวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดให้เกิดขึ้นในสังคม (culture of impunity) ดังนี้ ภาวะแห่งสันติสุขในแอฟริกาใต้ภายหลังความขัดแย้ง จึงเป็นเพียงสภาวการณ์ความสงบแบบผิวเผินที่ปราศจากการใช้กำลังการต่อสู้ (negative peace) หากแต่ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาอยู่เสมอ ความรู้สึกเจ็บปวดและไม่ได้รับความเป็นธรรมของคนผิวสีจากกระบวนการสร้างความปรองดอง รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเบ้าหลอมความผิดหวังและโกรธเคืองในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

คนผิวสีรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่ต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมในเชิงโครงสร้างที่เป็นผลมาจากยุคแบ่งแยกสีผิว ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐบาล ANC ที่เคยเป็นความหวังกลับทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างเป็นระบบ (state capture) การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างขบวนการเคลื่อนไหว Rhodes Must Fall มิใช่เป็นเพียงภาพสะท้อนความล้มเหลวของรัฐในการเปลี่ยนผ่านสังคมภายหลังยุคแบ่งแยกสีผิว แต่ยังเป็นเสียงเรียกร้องให้ทุกคนหันมายอมรับความจริงทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึงการแสวงหาวิธีการโอบกอดอดีตอันโหดร้ายของชาติไว้อย่างสร้างสรรค์และการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันในทุกมิติ เพื่อสร้างสังคมที่มีสันติภาพและเป็นธรรม (just peace) ดังที่ทุกคนใฝ่ฝันไว้



 

อ้างอิง
Arbour, L. (2007). Economic and Social Justice for Societies in Transition. Journal of International Law and Politics, 1, 1-27.

Castro, A., Tate, A. (2017). Rhodes Fallen: Student Activism in Post-Apartheid South Africa. History in the Making, 10(11). Retrieved from https://scholarworks.lib.csusb.edu/history-in-the-making/vol10/iss1/11

Chantiluke, R., Kwoba, B., Nkopo, A. (2018). Rhodes Must Fall: The Struggle to Decolonise the Racist Heart of Empire. London, UK: Zed Books.

Fairbanks, E. (2015). The Birth of Rhodes Must Fall. Retrieved from https://www.theguardian.com/news/2015/nov/18/why-south-african-students-have-turned-on-their-parents-generation

Head, T. (2018). Inequality has increased in South Africa since apartheid. Retrieved from https://www.thesouthafrican.com/inequality-increase-apartheid-south-africa/

Herwitz, D. (2012). Heritage, Culture, and Politics in the Postcolony New York, NY: Columbia University Press.

Lundy, P., McGovern, M. (2008). Whose Justice? Rethinking Transitional Justice from the Bottom Up, Journal of Law and Society. 35 (2). 265-292.

Nyamnjoh, A. (2015). The Phenomenology of Rhodes Must Fall: Student Activism and the Experience of Alienation at the University of Cape Town, Strategic Review for Southern Africa, 39(1), 256-277.

Nyamnjoh, F.B. (2018). #RHODESMUSTFALL: Nibbling at Resilient Colonialism in South Africa. Bamenda, Cameroon: Langaa RPCIG.

Schaap, A. (2008). Reconciliation as Ideology and Politics, Constellations: International Journal of Critical and Democratic Theory, 15(2), 249-264.

Waldorf, L. (2012). Anticipating the Past: Transitional Justice and Socio-Economic Wrongs, Social and Legal Studies, 21(2), 171-186.



 

ประวัติผู้เขียน


คุณนฤมล เตือนภักดี
Senior project executive -International research ที่Rapid Asia
ความสนใจทางวิชาการ: พัฒนาการทางเมืองเศรษฐกิจและสังคมในแอฟริกา, ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งในแอฟริกา, ประวัติศาสตร์อาณานิคมและชาติพันธุ์, การพัฒนาระหว่างประเทศ 




บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk

 
 
บทความอื่น ๆ ในหมวด
ทบทวนแนวโน้มสถานการณ์ความมั่นคงของโลก สิ่งที่ไทยควรตระหนักและเตรียมการรับมือ
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ต่อผู้เลือกตั้งชนบท
Digital Transformation กับนวัตกรรมการจัดบริการสาธารณะ : บทเรียนจากเอสโตเนีย เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย
ความท้าทายบนความท้าทาย: การบริหารจัดการเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงในยุคใหม่
 

จำนวนคนอ่าน 6832 คน จำนวนคนโหวต 3 คน
 
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอบทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
 


 
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555