ความท้าทายบนความท้าทาย:
การบริหารจัดการเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงในยุคใหม่
อารัมภบท
ภัยคุกคามความมั่นคงถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสุดคลาสสิกของประชาคมโลก หน่วยงานภาครัฐ วงการวิชาการ ตลอดจนปัจเจกบุคคลทั่วโลก จนนำมาซึ่งการระดมสมองและทรัพยากรจากผู้มีความรับผิดชอบทั้งหลายเพื่อหาหนทางในการรับมือ อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน คือความหลากหลายของปัญหาความมั่นคง นับตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา บรรดานักวิชาการและนักคิดได้ช่วยกันศึกษา ตีแผ่ สร้างสรรค์คำอธิบาย จนทำให้ปัญหาต่าง ๆ งอกเงยเป็นตัวเป็นตนในระบบนิเวศน์สมัยใหม่ ทั้งในระดับระหว่างประเทศ ระดับประเทศ ระดับชุมชน ไปจนถึงระดับปัจเจกบุคคล แน่นอนว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยมองว่าเหตุผลกลไกสำคัญของการขยายตัวของปัญหาความมั่นคงอยู่ที่การ “พัฒนา” ในด้านต่าง ๆ ของสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้การพัฒนาต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมีอัตราเร่ง และก่อให้เกิดภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ขาด ปัญหาความมั่นคงจึงมีทั้งความซับซ้อนและซ้ำซ้อน จนทำให้เกิดความสับสนและสุ่มเสี่ยง จนส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภัยคุกคามที่สำคัญในปัจจุบัน
ในอดีตภัยคุกคามความมั่นคงถูกตีกรอบอยู่ที่ภัยคุกคามทางทหาร (military threat) ที่มักเกิดขึ้นในรูปแบบของสงครามระหว่างรัฐ ที่นำกำลังเข้าสู้รบกันเพื่อผลประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ อำนาจ ดินแดน และทรัพยากร อย่างไรก็ดีภายหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา หรือภายหลังที่โลกมีวิวัฒนาการมากยิ่งขึ้น ปัญหาที่ถูกนับเป็นปัญหาความมั่นคงได้ถูกขยายกรอบออกไปอย่างมหาศาล ภัยคุกคามทางการทหารกลายเป็นเพียงหนึ่งในปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงที่มีอยู่อย่างดาษดื่น
ความสำคัญของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่คนนิยมพูดถึงกันในปัจจุบันนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายมิติ อาทิ มิติของตัวแสดง ที่เดิมทีภัยคุกคามทางการทหารมักเกิดจากตัวแสดงที่เป็นรัฐเท่านั้น แตกต่างจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับมิติของผลกระทบจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่หลายกรณี ทั้งกระทบต่อรัฐ ประชาคมระหว่างประเทศ และปัจเจกบุคคล หรือกระทบในทุกระดับไปพร้อมกัน
ภัยคุกคามรูปแบบใหม่มักมีความเชื่อมโยงกับหลายประเด็น เช่น การก่อการร้ายเหตุการณ์หนึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมืองภายในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ ประเด็นทางเศรษฐกิจ ความยากจน หรือปากท้องของผู้คน ประเด็นทางอัตลักษณ์ ความเชื่อ ค่านิยม ศาสนา หรือความคับแค้นใจ หรืออาจเชื่อมโยงกับภัยคุกคามรูปแบบอื่น ๆ เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้เกิดทั้งจากตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐ หรือบุคคลและกลุ่มบุคคลเลย แต่อาจเกิดจากผลกระทบของการใช้ชีวิตของมวลมนุษย์ส่วนรวม หรือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ อาทิ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่กล่าวได้ว่าเกิดจากผลกระทบจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่ไม่สามารถกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของผู้ใด หรือผู้ใดจงใจกระทำให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่นหรือชาติใดเป็นพิเศษ ปรากฏการณ์ดังกล่าวมิต่างกันกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเผชิญในปัจจุบันนี้
ปัญหาเหล่านี้จะจับมือใครมาเป็นผู้รับผิดชอบก็คงยาก แต่อย่างหนึ่งที่ยังคงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นคือ การกระจายผลกระทบไปยังมิติอื่น ๆ ก่อให้เกิดเป็นปัญหาลูกโซ่อีกจำนวนมาก เช่น ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงก็สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศได้ไม่น้อย เช่นเดียวกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในระดับโลก
ปรากฏการณ์ดังกล่าวล้วนเกิดจากความเชื่อมโยงในระดับสูงของโลกสมัยใหม่ทั้งสิ้น ปัญหาการค้าการขายที่ควรจะเป็นปัญหาในบริเวณที่มีโรคแพร่ระบาด กลับกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก เนื่องด้วยการค้าการขายของแต่ละประเทศได้เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งไม่ต่างกับการคมนาคมที่เป็นตัวการทำให้โรคระบาดได้แพร่ไปสู่ผู้คนทั่วโลกได้เช่นกัน
อีกทั้งยังมีปัญหาความมั่นคงที่เกิดจากความเชื่อและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของผู้คน จนเกิดสิ่งที่เหมือนจะเป็นความขัดแย้งกันระหว่างเจเนอเรชั่น ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแทบทุกที่ทั่วโลก อันเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้คนจำนวนไม่น้อยในเจอเนอเรชั่นใหม่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ และแทบไม่เคยประสบปัญหากับความท้าทายของคนในอดีต แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้วิถีชีวิตของเขาแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน แต่หากมองกันด้วยใจเป็นธรรมเราจะพบว่า พวกเขาเหล่านั้นเกิดมาในบริบทชีวิตแบบนั้น มันจึงเป็นเรื่อง “ปกติ” สำหรับพวกเขา
เมื่อผู้คนที่มีความคิดความอ่านแตกต่างกันและยังคงมีการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างใกล้ชิด จึงไม่แปลกที่หลายต่อหลายครั้งผู้คนเหล่านั้นจะมีความไม่ลงรอยซึ่งกันและกันทั้งในด้านความคิดและความต้องการ จนเลยเถิดไปเป็นความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ความท้าทายบนความท้าทาย
ดังนั้น หากจะถามว่า ความน่ากลัวของภัยคุกคามในปัจจุบันคืออะไร?
สิ่งที่น่าสนใจและน่ากลัวที่สุดของภัยคุกคามในยุคนี้ คงหนีไม่พ้น “ความเบลอ” ของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากในการระบุและเจาะจงลงไปว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นภัยคุกคามรูปแบบใด กระทบต่อใคร ใครเป็นตัวแสดง และมีเหตุผลกลไกอะไรที่เกิดขึ้น
ความเบลอเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงกันของโลกมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การคมนาคม หรือความเชื่อมโยงในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้สังคมต่าง ๆ บนโลกเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ขาด
เมื่อภูมิทัศน์เป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าการฉายภาพปัญหาความมั่นคงให้แจ่มชัดเหมือนในอดีตย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะปัญหาหนึ่งอาจไม่ใช่ปัญหาของผู้ใดผู้หนึ่งอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นปัญหาของใครหลาย ๆ คน และอาจเกิดจากตัวละครหลายตัว หรืออาจไม่ได้เกิดจากตัวละครใดตัวละครหนึ่งเลยก็เป็นได้ ดังนั้น การระบุว่า “ปัญหานี้เป็นปัญหาของใคร?” “ใครต้องรับผิดชอบ?” และ “ต้องรับมือกับใคร?” เอาแค่นี้ก็ปวดหัวแย่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น การโจมตีทางไซเบอร์ สมมติว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ต่อโรงพยาบาล การโจมตีดังกล่าวอาจเป็นการโจมตีโดยตัวแสดงที่เป็นรัฐ หรือไม่ใช่รัฐก็ได้ อาจดำเนินการจากภายในประเทศหรือนอกประเทศ อาจมีต้นตอจากปัญหาภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางการเมือง หรืออาจเกิดขึ้นเพียงเพื่อต้องการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจบางประการ อาจเป็นการก่อการร้าย หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารจากประเทศอื่น หรือแท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงการก่อกวนเพื่อผลประโยชน์บางอย่างเป็นต้น ประเด็นสำคัญคือการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลอันเป็นสถานที่ที่ไม่ใช่เวทีการสู้รบปรบมือกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานที่มีขีดจำกัดที่ลดลง และภัยคุกคามต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นบนสถานที่หลากหลายยิ่งขึ้น จากตัวอย่างของการโจมตีทางไซเบอร์ในโรงพยาบาลนี้ จะเห็นได้ว่ามีความเป็นไปได้มากมายที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งหนึ่ง ใครจะบอกได้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร? และควรจะรับมืออย่างไร? โดยใคร?
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ไม่ต่างกับภัยคุกคามรูปแบบอื่น เช่น ความขัดแย้งภายในประเทศที่มองเผิน ๆ ก็เหมือนจะเป็นความไม่พอใจของคนบางกลุ่ม แต่แท้จริงแล้วอาจแฝงไปด้วยประเด็นที่หลากหลาย เช่น ประเด็นระหว่างประเทศ ประเด็นภายในประเทศ ความยากจน ความเหลือมล้ำ หรือผลประโยชน์อื่น ๆ
ดังนั้น ความท้าทายที่เกิดขึ้นซ้อนทับบนความท้าทายใหม่เหล่านี้ จึงกลายเป็นการออกแบบการบริหารจัดการเพื่อการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่มีความเบลอ และมีความซับซ้อนจนยากจะแยกขาดจากกัน
เมื่อเกิดปัญหาหนึ่งขึ้นจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างท่องแท้ว่าเป็นปัญหาอะไร มีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีจุดประสงค์และผลกระทบอย่างไร เพื่อที่จะได้รับมือได้อย่างถูกต้องและไม่ผิดฝาผิดตัว แต่ความยากของปัญหาดังกล่าวคือจะทำอย่างไรให้เราสามารถวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพราะแน่นอนว่าปัญหาความมั่นคงต่าง ๆ เมื่อเกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยธรรมชาติ หรือมีคนตั้งใจให้เกิด ย่อมไม่เคยแบ่งสรรเวลาให้เหล่านักคิด นักบริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้พินิจพิเคราะห์สักเท่าไหร่
ดังนั้น การเสริมเขี้ยวเล็บของรัฐในการรับมือกับภัยความมั่นคงล่วงหน้าอาจเป็นทางออกที่ดีสำหรับยุคปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความสามารถในการคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตโดยใช้ข้อมูลสถิติจำนวนมหาศาล แน่นอนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นการวิเคราะห์บนพื้นฐานของข้อมูลจำนวนมาก คงไม่สามารถบอกได้ว่าแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนตาแม่หมอหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็นับว่าเป็นการวิเคราะห์ที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งน่าจะดีกว่าการนั่งดูดวงเมืองอย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบันวิวัฒนาการของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ล้ำหน้าไปมากเลยทีเดียว
เพียงเท่านั้นยังคงไม่พอ การรับมือกับภัยคุกคามต้องอยู่บนพื้นฐานของความอ่อนตัวและความคล่องตัวมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการปรับโครงสร้างระบบราชการไทย หรือแม้แต่ประเทศอื่น ๆ บนโลก ที่ปกติการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐมักถูกแบ่งออกโดยชัดเจนบนพื้นฐานของสิ่งที่รับผิดชอบ ซึ่งในอดีตเราต้องยอมรับกันว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองและความมั่นคงมีความชัดเจนมากกว่าปัจจุบัน ปัญหาความมั่นคงด้านปากท้อง ด้านการทหาร ด้านการแพทย์ ด้านภัยธรรมชาติ จึงถูกขีดเส้นได้ค่อนข้างชัดเจนกว่าในปัจจุบัน
เมื่อปัญหาในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใหม่ การแบ่งความรับผิดชอบจึงทำได้ยากยิ่งขึ้น ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีทางไซเบอร์? กระทรวงดิจิทัลหรือไม่? แต่ถ้าหากเป็นการโจมตีทางการทหาร หรือเป็นการก่อการร้ายที่มุ่งร้ายต่อชีวิตบุคคลสำคัญที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล ปัญหาเหล่านี้น่าจะสร้างความปวดหัวให้กับคนที่พยายามตอบอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ดังนั้น เราอาจจำเป็นต้องสร้างบรรทัดฐานการบริหารจัดการภัยคุกคามความมั่นคงให้ชัดเจน โดยมีหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในภาพรวมทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพร้อมที่จะดำเนินการตามการสั่งการของหน่วยเหนือเมื่อมีปัญหาภัยคุกคามเกิดขึ้น โดยในที่นี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ควรได้รับมอบอำนาจในการบูรณาการและสั่งการหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมในยุคนี้และอนาคตข้างหน้า หาใช่เป็นเพียงเสือกระดาษอย่างที่ผู้คนชอบแซวกันมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เป็นผู้พร้อมปฏิบัติตามการตัดสินใจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ต้องเป็นหน่วยงานแม่ในการวิเคราะห์สถานการณ์โดยใช้ทั้งทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพประกอบกับเทคโนโลยีที่สำคัญในการคาดการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงในอนาคต
นอกจากนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควรบูรณาการในการแบ่งความรับผิดชอบซึ่งกันละกัน โดยสภาความมั่นคงอาจรับผิดชอบภัยคุกคามความมั่นคง ที่ต้องรับมือเฉพาะหน้า เป็นงานประเภท proactive ที่สั่งการหน่วยงานต่าง ๆ ให้ขยับได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ ส่วนสภาพัฒน์ฯ รับผิดชอบงานระยะยาวที่ต้องแก้ไขกันจากฐานราก เช่น ความยากจน ปากท้อง ความเสื่อมถอยทางวัฒนธรรม เป็นต้น เรียกว่าเป็นงาน preventive ที่ต้องใช้เวลาและความทุ่มเท ซึ่งจะทำให้เราได้มีทั้งรากฐานที่มั่นคงและมีความพร้อมในการรับมือปัญหาเฉพาะหน้า
การปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างในการรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หน่วยงานความมั่นคง นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป จำเป็นต้องให้ความร่วมมือและบูรณาการการรับมือให้ได้ เพราะปัญหาความมั่นคงไม่มีวันหยุดนิ่ง ไม่มีวันตายตัว และมันพร้อมจะพัฒนาตัวมันเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากเราไม่พัฒนาให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามเหล่านั้นให้ทันท่วงที เราจะไม่สามารถตามทัน “ความมั่นคง” ของชาติและประชาชนอาจจะห่างไกลเราออกไปทุกที
อ้างอิง
Ali B. Al-Bayaa. (2011). Preventive Security in the 21st Century: The Threats of the Threats.
Retrieved 19 April 2020, from http://www.inquiriesjournal.com/articles/351/preventive-security-in-the-21st-century-the-threats-of-the-threats
"Emerging Threats in the 21st Century" Strategic Foresight and Warning Seminar Series. Seminar
1: The Changing Threat Environment and Its Implications for Strategic Warning. Zurich: Switzerland. Retrieved from https://www.files.ethz.ch/isn/28419/EmergingThreatsInThe21stCentury.pdf
Main Security Threats in the 21st Century. Retrieved 19 April 2020, from
https://www.ukessays.com/essays/security/main-security-threats-in-the-21st-century.php
ประวัติผู้เขียน
อ.ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ : การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ, นโยบายสาธารณะ, ความมั่นคงระหว่างประเทศ, ความมั่นคงทางไซเบอร์, นโยบายความมั่นคง
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk
|