สิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์
 
สำรวจการประท้วงท่ามกลางวิกฤตโควิด-19: โลก เบลารุส และไทย

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ 10 กันยายน 2563


สำรวจการประท้วงท่ามกลางวิกฤตโควิด-19: โลก เบลารุส และไทย


เมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียว เกิดการประท้วงของคลื่นมหาชนใน 114 ประเทศ[1] แม้ในแต่ละพื้นที่จะมีพลวัตต่างกันอันเป็นผลจากการเมืองภายในประเทศ ทว่ามีเหตุร่วมกันบางประการ เช่น ความเหลื่อมล้ำ การทุจริตและเพิกเฉยของชนชั้นนำทางการเมือง รวมถึงสิทธิพลเมือง และเรื่องสิ่งแวดล้อม การสำรวจของสถาบันวิจัยด้านประชาธิปไตยจากประเทศเดนมาร์ก V-Dem[2] พบว่าประเทศซึ่งระบอบประชาธิปไตยถดถอยอย่างหนักจำนวน 29 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา ตุรกี และโปแลนด์ เป็นต้น ผู้คน “ลงถนน” เพื่อป้องปรามมิให้ผู้นำประเทศบั่นทอนคุณภาพประชาธิปไตย ส่วนในประเทศที่ถอยสู่อำนาจนิยมแล้วจำนวน 34 ประเทศ ประชาชนก็ใช้การประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ประชาธิปไตยหวนคืนมา ในบางประเทศ เช่น ซูดานและอัลจีเรีย พลังประชาชนไม่เพียงแต่ต้านกระแสอำนาจนิยม แต่ยังสามารถล้มผู้นำเผด็จการได้ กราฟด้านล่างชี้ว่าประชาธิปไตยในโลกลดสัดส่วนลงจากร้อยละ 54ในปี 2009 เป็นร้อยละ 49 ในปี 2019 ขณะเดียวกันจำนวนประชากรซึ่งอยู่ในระบอบอำนาจนิยมแต่กระนั้นก็ยังประท้วงได้เพิ่มจากร้อยละ 6 ในปี 2009 เป็นร้อยละ 34 ในปี 2019 


เมื่อโควิด-19 ระบาดในปี 2020 แน่นอนว่ากระแสการประท้วงดังกล่าวก็แผ่วลง กระนั้นก็ดี ภายในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวเกิดการประท้วงทั่วโลกถึง 405 เหตุการณ์[3] โดยกิจกรรมเปลี่ยนรูปแบบและพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดและมาตรการสาธารณสุขมากขึ้น เช่นในบราซิล[4] ประชาชนออกมาตีหม้อที่นอกชานเพื่อคัดค้านมาตรการอันหย่อนยานของรัฐบาลตน ชาวรัสเซียใช้แอปพลิเคชันจราจรเป็นพื้นที่ประท้วงและวิจารณ์รัฐบาล[5] ส่วนในสหรัฐฯ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้อพยพ ‘เดินขบวน’ ด้วยการขับรถส่วนตัวและติดป้ายชุมนุมที่รถ[6] 

แม้การประท้วงในบริบทโควิด-19 จะเกิดขึ้นทั้งในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ แต่ในระบอบอำนาจนิยมหรือผสม (hybrid regime) ซึ่งไม่สามารถจัดการวิกฤตโรคระบาดและ/หรือผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชุมนุมและรัฐบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมักเป็นไปอย่างตึงเครียด เพราะรูปแบบของระบอบการเมืองยังคงปิดกั้นสิทธิในการชุมนุม และปราบปรามผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะอย่างแนบเนียนหรือซึ่งหน้า อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่อความชอบธรรมของระบอบอย่างหนัก ฉะนั้นยิ่งปราบปราม ก็ยิ่งขับให้ผู้คน “ลงถนน” กรณีการประท้วงในไทยและเบลารุส ซึ่งเกิดคู่ขนานกันในเดือนสิงหาคมนี้ สะท้อนปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ

แม้ไทยและเบลารุสมีเงื่อนไขทางการเมืองที่ต่างกัน เช่นในแง่ระบอบการเมือง เบลารุสถือว่าเป็นเผด็จการพลเรือน ส่วนไทยเป็นแบบผสม หรือในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองภายในเบลารุสได้รับอิทธิพลจากมหาอำนาจอย่างรัสเซียและสหภาพยุโรป ฉะนั้นสถานะทางภูมิยุทธศาสตร์ของไทยในการเมืองโลกอาจไม่ทัดเทียมเบลารุส กระนั้นก็ดีปัจจัยขับเคลื่อนและรูปแบบการประท้วงในสองประเทศนี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างน้อยสามประการ ซึ่งอาจบ่งชี้แนวโน้มการเมืองของการประท้วงในโลกช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแห่งโควิดนี้ได้

ความคล้าย I: เหตุปัจจัยอันมาจากผู้นำอำนาจนิยมเกาะเก้าอี้ไม่ยอมปล่อย
ในสองกรณีนี้ปรากฏว่าผู้นำประเทศ ณ ปัจจุบัน อยู่ในตำแหน่งมานาน บกพร่องในการบริหารการบ้านการเมือง ไม่ใส่ใจเสียงประชาชน จากที่คนเคยรักช่วงครองอำนาจแรก ๆ ก็เบื่อหน่ายและขาดความเชื่อถือมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิกฤตความชอบธรรม ในบรรดาผู้นำทั้งสอง ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเช็งโก (Alexander Lukaschenko) อยู่ในตำแหน่งนานถึง 26 ปี โดยเส้นทางสู่อำนาจเริ่มจากชัยชนะการเลือกตั้งในปี 1994 ต่อมาในปี 2004 ก็ได้จังหวะจัดประชามติเพื่อให้ตนอยู่ในอำนาจโดยไม่มีกรอบเวลาจำกัด (term limits) ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ลูกาเช็งโกโกงการเลือกตั้ง จนชนะอยู่ร่ำไป สหภาพยุโรปถึงกับขนานนามลูกาเช็งโกว่าเป็น “เผด็จการคนสุดท้าย” ของยุโรป ช่วงหลายปีที่อยู่ในอำนาจ เบลารุสกลายเป็นรัฐตำรวจ ผู้เห็นต่างถูกปราบปรามอย่างไม่เลือกหน้า แม้ในสายตาใครหลายคน คะแนนนิยมลูเช็งโกตกต่ำอย่างมากในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ทว่าผลการเลือกกลับออกมาว่าเขาชนะการเลือกตั้ง โดยกวาดคะแนนไปกว่าร้อยละ 80[7]

ส่วนกรณีไทยนั้น ไม่ต้องอธิบายกันยาวมาก รู้กันว่าท่านนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองตำแหน่งผู้นำประเทศมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหารปี 2014 และยังคงครองตำแหน่งอยู่แม้จะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว รวมเวลาอยู่ในอำนาจจนถึงปัจจุบันได้หกปี กล่าวได้ว่าในช่วงหลังรัฐประหารใหม่ ๆ คะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์มีอยู่พอควร โดยเฉพาะในกลุ่มอนุรักษนิยม ทว่าหลายปีผ่านไป นโยบายหลายประการที่สัญญาไว้ดันไม่เกิดผล ตรงข้ามกับงบประมาณทหารที่เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยก็ถ่างออกห่างจากกันเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ยังไม่นับข่าวฉาวการฉ้อราษฎร์บังหลวงของคนในรัฐบาล การปราบผู้เห็นต่าง การใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ฯลฯ ผลสำรวจคะแนนนิยมผู้นำทางการเมือง[8]พบว่าในช่วงวิกฤตโควิด แม้คะแนนนิยมพล.อ.ประยุทธ์จะเพิ่มจากร้อยละ 23 มาเป็นร้อยละ 25 แต่ผู้ถูกสำรวจร้อยละ 44 คิดว่าตอนนี้ยังหาผู้นำที่เหมาะสมไม่ได้

ความคล้าย II: เหตุปัจจัยอันมาจากการรับมือวิกฤตโควิด
ผู้นำและรัฐบาลข้างต้นในเบลารุสและไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะมาตรการรับมือโควิด และ/หรือปัญหาเศรษฐกิจที่พ่วงมากับวิกฤตดังกล่าว โดยวิกฤตเฉพาะหน้าเหล่านี้ทับถมกับปัญหาเดิม ซึ่งผู้นำที่อยู่ในอำนาจมายาวนานเหล่านี้ไม่ได้คลี่คลาย หรือซ้ำร้ายซึ่งทำให้แย่ลง แม้ว่าไทยจะรับมือโรคระบาดได้เร็วทันเวลา ทว่าการปิดเมืองแบบสุดขั้วส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ ผลสำรวจของมูลนิธิเอเชีย[9]พบว่า ร้อยละ 70 ของแรงงานตอนนี้มีรายได้ลดลงราวร้อยละ 47 จากเดิม ธุรกิจขนาดเล็กในภาคการท่องเที่ยวร้อยละ 11 อาจปิดตัวลงอย่างถาวร ส่วนกิจการขนาดย่อมอีกร้อยละ 31 (ที่สำรวจ) อาจปิดตัวลงในอีกหกเดือน นอกจากนี้ ธนาคารโลก[10]ชี้ว่าจำนวนผู้ตกงานในเมืองไทยอาจมีมากถึง 8 ล้านคน และอาจจะแตะที่ 14 ล้านในปลายปีนี้

ส่วนประชาชนในเบลารุสเจอทั้งมาตรการรับมือโควิดและพิษเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ ในช่วงแรกที่โควิด-19 เริ่มระบาดในเบลารุส ประธานาธิบดีลูกาเช็งโก[11]ประกาศว่านี่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ให้ประชาชนดื่มเหล้าวอดก้าให้มาก ๆ ไปซาวน่า และขี่อีแต๋นไปทำไร่ไถนาไปเรื่อย ๆ (ไม่ได้ล้อเล่นค่ะ แกพูดเช่นนี้จริง ๆ)ร่างกายจะได้แข็งแรง สู้กับไวรัสได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในเบลารุสตอนนี้อยู่ที่ราวเจ็ดหมื่น ส่วนผู้เสียชีวิตมีประมาณ 662 คน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในเบลารุสก็ง่อนแง่น คาดว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบร้อยละ 4 ในปีนี้ ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 25 ปี โดยคาดการณ์ว่าตัวเลขคนตกงานอาจเพิ่มขึ้นมามากถึงร้อยละ 20-30[12] ขณะที่ผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจกระจุกอยู่ในระบบราชการแบบรวมศูนย์[13]และคนใกล้ตัวประธานาธิบดีลูกาเช็งโก

วิกฤตที่มากับโรคระบาดโควิดจะเป็นชนวนให้การประท้วงต้านรัฐบาลในประเทศที่มาตรการรับมือไร้ประสิทธิภาพ และไม่ทั่วถึง ภาวะเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำวิกฤตความชอบธรรมของผู้ซึ่งเกาะเก้าอี้ไม่ปล่อย และช่วยให้ขบวนการภาคประชาชนที่ประท้วงผู้นำมานานได้ขยายฐานสนับสนุน

ความคล้าย III: องค์ประกอบและยุทธศาสตร์ของขบวนการภาคประชาชน
ในสองประเทศนี้ ขบวนการภาคประชาชนประท้วงต้านผู้นำมาหลายระลอกก่อนหน้านี้ ในแต่ละรอบเสียงสนับสนุนและผู้เข้าร่วมจะไม่มากนัก เช่นในไทย ขบวนการนักศึกษาในไทยประท้วงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 ส่วนในเบลารุส เครือข่ายภาคประชาชนต้านประธานาธิบดีลูกาเช็งโกมาตั้งแต่ปี 2006, 2011-2012 และครั้งล่าสุดในปี 2017 เหตุที่การประท้วงครั้งก่อน ๆ ไม่ประสบความสำเร็จมากนักอาจเพราะรัฐบาลในเวลานั้นยังได้รับความนิยมบางส่วนอยู่ อีกทั้งยังปราบปรามผู้ประท้วง ซึ่งทำให้คนทั่วไปไม่กล้าร่วมกิจกรรม กระนั้นก็ดี ในเดือนสิงหาคม ขบวนการประท้วงในสองประเทศนี้ขยายใหญ่ขึ้น โดยเป็นเป็นผลต่อเนื่องจากการปราบปรามผู้ประท้วง พูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า มาตรการปราบปรามมิได้กำหลาบผู้คนอีกต่อไป ทว่ากลับให้ผลในทางตรงกันข้าม คือยิ่งปราบ คนยิ่งโกรธ และยิ่งเข้าร่วมประท้วง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในประเด็นนี้คือเบลารุส ช่วงต้นของการประท้วงช่วงต้นสิงหาคมมีผู้เข้าร่วมหลักพัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุม[14] โดยใช้แก็สน้ำตาและไม้กระบองตี อีกทั้งยังจับกุมคนจำนวนมาก กระนั้นก็ดี เหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งโหมกระพือความโกรธแก่ประชาชน ปรากฏว่าหลังจากการปราบปราม คนลงถนนเรือนหมื่น และเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนับเป็นเรือนแสน โดยมีกลุ่มผู้หญิงร่วมเป็นโล่มนุษย์กันมิให้ตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุม ที่สำคัญที่สุดคือการปราบปรามดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้เคยสนับสนุนประธานาธิบดีลูกาเช็งโก “ตาสว่าง” คนงานและข้าราชการซึ่งเป็นฐานเสียงและมือไม้ของระบอบลูเช็งโกต่างประกาศเข้าร่วมกับผู้ชุมนุม และทิ้งประธานาธิบดีไว้อย่างโดดเดี่ยว กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมฝูงชนในเมืองหนึ่ง ถึงกับทิ้งโล่กระบอง[15] และประกาศไม่ปราบปรามการชุมนุมดังที่ผู้มีอำนาจสั่ง

ลักษณะร่วมที่สำคัญคือการที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ในทั้งสองประเทศนี้เป็นเยาวชน คนรุ่นใหม่ โดยมีแรงบันดาลใจอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ ในเบลารุส[16] คนรุ่นใหม่นั้นตระหนักดีว่านี่เป็นการต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้ ความรู้สึกเช่นนี้ไม่ต่างกับผู้ชุมนุมในไทย[17] ซึ่งร่วมประท้วงเพราะอยากเห็นการเมืองใหม่ อยากทำให้ประเทศของพวกเขาและเธอเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลัง และอยากสร้างการเมืองบนฐานของความหวัง มิใช่ความกลัว ที่แน่ ๆ คือการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่สัมพันธ์กับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ[18] ซึ่งเผชิญกับอัตราการว่างงาน[19]ที่สูงขึ้นในช่วงระหว่างและหลังจากวิกฤตโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้นระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศรวมศูนย์อยู่ที่เครือข่ายคนชั้นนำ ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าคนรุ่นใหม่อาจไร้อนาคตทางเศรษฐกิจ หากพวกเขาและเธอมิใช่ลูกหลานผู้มีอิทธิพลหรือเศรษฐี

ปรากฏการณ์ที่มากับคนรุ่นใหม่อีกประการคือ รูปแบบองค์กรประท้วงแบบไม่รวมศูนย์ (decentralised) และ การใช้เทคโนโลยี เพื่อให้การประท้วงมีประสิทธิภาพ อันที่จริงแนวโน้มทั้งนี้เริ่มปรากฏในการชุมนุมของกลุ่ม Occupy Wall Street เมื่อปี 2010-2011 แต่ว่าถูกพัฒนายิ่งขึ้นในการประท้วงรัฐบาลในไต้หวันปี 2014 และโดยเฉพาะในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว แม้ขบวนการมีองค์กรจัดการส่วนกลาง ทว่าอำนาจในการบริหาร ออกแบบกิจกรรม และขับเคลื่อนในมิติอื่น ๆ กระจายไปยังกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในเครือข่าย ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อรูปขบวนเมื่อแกนนำถูกจับ นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังมีบทบาทอย่างมากในการสร้างกระแสมหาชน ระดมผู้คนลงถนน รวมถึงต้านและหลีกเลี่ยงการปราบปราม
เช่นในเบลารุส ผู้ชุมนุมใช้ YouTube เพื่อเผยแพร่ข่าวสารการชุมนุมที่สื่อฝั่งรัฐปิดกั้น รวมถึงใช้ Telegram เพื่อสื่อสารวงกว้าง ช่องที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ NEXTA[20] โดยมีผู้ลงทะเบียนถึงสองล้านคน เมื่อรัฐบาลตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ผู้ชุมนุมหันไปใช้แอปพลิเคชันอื่นที่ไม่ต้องพึ่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตแทน เช่น Firechat หรือ Bridgefy ปรากฏการณ์คล้ายกันเกิดในไทย โดยทวิตเตอร์[21]กลายเป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวและระดมผู้ชุมนุมที่มีประสิทธิภาพมาก นอกจากนี้เฟซบุ๊กไลฟ์ยังกลายเป็นที่ถ่ายทอดการประท้วง ซึ่งปราศจากช่องทางเผยแพร่ในสื่อกระแสหลัก

แนวโน้มทั้งสามประการในไทยและเบลารุสข้างต้นชี้ว่าโควิด จะไม่ใช่อุปสรรคในการ “ลงถนน” เพื่อแสดงพลังประชาชนอีกต่อไป นอกจากนี้ ผู้นำที่มั่นใจในฐานอำนาจของตนเพราะอยู่มานานอาจต้องคิดใหม่ เพราะยิ่งอยู่นาน กระแสต้านจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ซึ่งจะยิ่งโหมกระพือกระแสต้าน ในบริบทเช่นนี้ พลังคนรุ่นใหม่ สำคัญอย่างยิ่งในการสรรค์สร้างการเมืองแบบก้าวหน้าในโลกใบใหม่ยุคหลังโควิด



อ้างอิง


  1.  จันจิรา สมบัติพูนศิริ. (2562). "ประชาชนลุกฮือทั่วโลก?: สาเหตุ ยุทธวิธี และอนาคตของการประท้วง". เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/protests-around-the-world/

  2. V-Dem Institute. (2020). Autocratization Surges-Resistance Grows DEMOCRACY REPORT 2020. Retrieved from https://www.v-dem.net/media/filer_public/f0/5d/f05d46d8-626f-4b20-8e4e-53d4b134bfcb/democracy_report_2020_low.pdf

  3. Retrieved from https://acleddata.com/data-export-tool/

  4. "Coronavirus: Brazilians protesting against Bolsonaro bang pots and pans from windows - video". (25 March 2020). Retrieved from https://www.theguardian.com/world/video/2020/mar/25/coronavirus-sao-paulo-residents-stay-indoors-as-bolsonaro-plays-down-crisis-video

  5. Edwards, Maxim. (20 April 2020). "Russians launch mass virtual protests using satnav application". Retrieved from https://globalvoices.org/2020/04/20/russians-launch-mass-protests-using-satnav-application/

  6. Graceffo, Loretta. (9 April 2020). Retrieved from https://wagingnonviolence.org/2020/04/maintain-social-distancing-immigrant-rights-use-creative-drive-by-protests/?fbclid=IwAR3kro6bb7OI3Wnqa2rMhxsaIfuz4aw1TkaWzOBSd92T994y1hJKsfxuiC4

  7. Serhan, Yasmeen. (26 August 2020). "What Belarus Learned From the Rest of the World". Retrieved from https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/08/belaurus-protest-tactics-hong-kong/615454/

  8. "นิด้าโพลชี้ไม่มีใครเหมาะสม เป็นนายกฯในตอนนี้ แต่คะแนนความนิยม"บิ๊กตู่" เพิ่มขึ้น". (28 มิถุนายน 2563). เข้าถึงได้จาก https://www.sanook.com/news/8196146/

  9. Parks, Thomas. (19 August 2020). เข้าถึงได้จาก https://asiafoundation.org/2020/08/19/the-future-of-work-another-storm-on-the-horizon-for-thailand/

  10. "The Future of Work: Another Storm on the Horizon for Thailand". (2020). Retrieved from https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2020/06/30/major-impact-from-covid-19-to-thailands-economy-vulnerable-households-firms-report

  11. Makhovsky, Andrei. (14 April 2020). Retrieved from https://uk.reuters.com/article/us-health-coronavirus-belarus/nobody-will-die-from-coronavirus-in-belarus-says-president-idUKKCN21V1PK

  12. "Belarus' economic decisions in face of coronavirus pandemic justified". (24 March 2020). Retrieved from https://eng.belta.by/economics/view/belarus-economic-decisions-in-face-of-coronavirus-pandemic-justified-129240-2020/

  13. ÅSLUND, ANDERS. (15 August 2020). "The Economic Factor in Belarus". Retrieved from https://www.project-syndicate.org/commentary/belarus-economy-after-lukashenko-by-anders-aslund-2020-07

  14. Abdurasulov, Abdujalil. (16 August 2020). "Belarus protests: 'We can breathe for the first time in our lives'". Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-53796989

  15. Ilyushina, M, Pleitgen F. and Otta, C. (14 August 2020). "Belarus riot police drop shields and are embraced by anti-government protesters". Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/08/14/europe/belarus-protests-riot-police-intl/index.html

  16. Serhan, Yasmeen. (26 August 2020). "What Belarus Learned From the Rest of the World". Retrieved from https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/08/belaurus-protest-tactics-hong-kong/615454/

  17. Janjira Sombatpoonsiri. (27 August 2020). "Mit Witz gegen das Establishment". Retrieved from https://www.ipg-journal.de/regionen/asien/artikel/detail/mit-witz-gegen-das-establishment-4599/

  18. Hutt, David. (21 April 2020). "Thailand’s Lost Youth". Retrieved from https://thediplomat.com/2020/04/thailands-lost-youth/

  19. Kunitskaya & Shkurin. (17 August 2020). "In Belarus, the Left Is Fighting to Put Social Demands at the Heart of the Protests". Retrieved from https://jacobinmag.com/2020/08/belarus-protests-lukashenko-minsk

  20. Serhan, Yasmeen. (26 August 2020). "What Belarus Learned From the Rest of the World". Retrieved from https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/08/belaurus-protest-tactics-hong-kong/615454/

  21. Aim Sinpeng. (30 August 2020). "Twitter Analysis of the Thai Free Youth Protests". Retrievedf rom https://www.thaidatapoints.com/post/twitter-analysis-of-the-thai-free-youth-protests


 


ประวัติผู้เขียน


ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์

ปัจจุบันเป็นนักวิจัยสถาบัน The German Institute for Global and Area Studies (GIGA) ประเทศเยอรมนี

ความสนใจทางวิชาการ: ความขัดแย้ง, การเมืองของความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง, การแทรกแซงด้านมนุษยธรรมและ "หลักรับผิดชอบเพื่อปกป้อง", ภาคประชาสังคมโลก (Global civil society), การเมืองในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (คาบสมุทรบอลข่าน) 



บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk

 
 
บทความอื่น ๆ ในหมวด
ทบทวนแนวโน้มสถานการณ์ความมั่นคงของโลก สิ่งที่ไทยควรตระหนักและเตรียมการรับมือ
สายรุ้งที่ฉันฝันหา: ขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall ที่แอฟริกาใต้
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ต่อผู้เลือกตั้งชนบท
Digital Transformation กับนวัตกรรมการจัดบริการสาธารณะ : บทเรียนจากเอสโตเนีย เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย
 

จำนวนคนอ่าน 1667 คน จำนวนคนโหวต 1 คน
 
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอบทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
 


 
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555