สิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์
 
นวัตกรรมประชาธิปไตยในบอร์ดเกม

โดย สิรินธารา ตีระมาศวณิช 5 สิงหาคม 2563


นวัตกรรมประชาธิปไตยในบอร์ดเกม


บอร์ดเกมมิได้เป็นเพียงแค่พื้นที่ของความสนุกสนาน แต่สามารถเป็นห้องเรียนประชาธิปไตยได้ดีทีเดียว เพียงแต่ต้องอาศัย “กลไกเกม” ที่เอื้ออำนวยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในความหมายของพื้นที่สาธารณะในแบบฮาเบอร์มาส กล่าวคือเป็นการสร้างพิ้นที่สาธารณะเพื่อการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่ปลอดการครอบงำ และ “กระบวนการเกม” ที่ทำให้ทุกเสียงของผู้เล่นมีคุณค่า และทุกความคิดที่ปรากฏออกมา เป็นเรื่องของการต่อยอด และคำถามปลายเปิดที่ทุกคนต่างกระโดดเข้ามาร่วมสนทนาได้เสมอ

ประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในคำที่เป็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยประชาธิปไตยนำเสนอหลักการและคุณค่าอย่างที่ “เป็นสากล” ทำให้ประชาธิปไตยให้จินตภาพและมีความหมายกับแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป จากการให้ความหมายและจินตภาพที่หลากหลาย ทำให้เกิดการนำเสนอแนวทางในการ “ขยายความ” ประชาธิปไตยผ่านคำคุณศัพท์ กลายเป็น “ประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์” เพื่อสื่อสารคุณลักษณะเฉพาะของประชาธิปไตยนั้นๆ (ประจักษ์, 2562) การวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียง และนิยามประชาธิปไตยข้างต้นฉายภาพคุณค่าประชาธิปไตยในตัวเอง กล่าวคือ การมีส่วนร่วม มีความเป็นพลวัตเพื่อตอบสนองต่อสังคม และรังสรรค์นวัตกรรมไปพร้อม ๆ กับการสร้างคำนิยามประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์ สะท้อนภาพสังคมประชาธิปไตยที่มีความหลากหลาย ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democracy) เป็นหลัก เนื่องจากเป็นคุณค่าและแนวทางในพันธกิจของมูลนิธิฟรีดริช เนามัน อย่างไรก็ดีประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์เหล่านี้ไม่ได้มีการแยกขาดจากกันชัดเจน หากแต่มีการแบ่งปันคุณค่าบางอย่างร่วมกันอยู่

เสรีนิยมประชาธิปไตย เป็นหลักการที่เคารพความเสมอภาคทางการเมือง อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เน้นการตรวจสอบถ่วงดุล การจำกัดอำนาจรัฐ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน หลักการนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิพลเมืองและสิทธิตามธรรมชาติ อันเป็นหัวใจของวัฒนธรรมการเมืองแบบเสรีนิยม (ประจักษ์, 2562) อย่างไรก็ตามเสรีนิยมประชาธิปไตยประกอบด้วยคุณค่าจากคำคุณศัพท์ที่ขยายความประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์อื่นๆ ด้วย ได้แก่ ประชาธิปไตยเชิงลึก ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยแบบพหุนิยม ประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม ประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยเชิงกระบวนการ ประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา จะช่วยฉายภาพสังคมประชาธิปไตยในจินตภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การมีส่วนร่วม: สังคมประชาธิปไตยกับประชาธิปไตยศึกษา

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเป็นการเพิ่มพลังให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่ง เนื่องจากประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ ลักษณะ และปัญหาทางการเมือง และประชาชนไม่เป็นเพียงผู้ถูกปกครองที่เฉื่อยชา หากแต่สามารถรวมกลุ่มเพื่อทำตามเจตนารมณ์ของกลุ่มได้ เช่น การพัฒนาท้องถิ่น การออกแถลงการณ์ หรือการทำประชาพิจารณ์ เป็นต้น (ประจักษ์, 2562) ประชาธิปไตยศึกษา เป็นหนึ่งในหนทางหนุนเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและเพิ่มพลังให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง นอกจากนี้ ประชาธิปไตยศึกษายังใช้หนทางการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ในการถ่ายทอดเนื้อหาและคุณค่าประชาธิปไตย ไม่เพียงเพราะต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วม แต่จากผลการศึกษาและนำเสนอปิรามิดแห่งการเรียนรู้เป็นข้อยืนยันว่าการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ (McQuoid-Mason, 2013)

ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยศึกษาที่มีนวัตกรรมสามารถทำได้ผ่านบอร์ดเกม ซึ่งทั้งให้ความรู้และความสนุกสนานไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ประชาธิปไตยใกล้ตัว เข้าถึงได้ และน่าสนใจ ที่สำคัญบอร์ดเกมยังสามารถเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมกันแก้ไขปัญหา และตกผลึกทางความคิดเกี่ยวกับหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ผู้เล่นสัมผัสกับประสบการณ์จริงในการออกแบบชีวิตในระบอบประชาธิปไตย เพราะในที่สุดแล้ว กลไกที่ถูกใส่เข้าไปในบอร์ดเกม ก็จะหล่อหลอมวิธีคิดเละวิธีปฏิบัติตนของผู้เล่นที่มากไปกว่าการได้รับชัยชนะ

การศึกษาภาคพลเมือง การศึกษาประชาธิปไตย

คู่มือต้นแบบการศึกษาประชาธิปไตย (Best Practices Manual on Democracy Education) ได้สรุปสาระสำคัญของการศึกษาภาคพลเมือง การศึกษาประชาธิปไตย ว่า การศึกษาประชาธิปไตยต้องมีทั้งเนื้อหา (about) และแนวทาง (for) ที่เป็นประชาธิปไตย โดยคาดหวังว่าการศึกษาประชาธิปไตยจะสร้างผลลัพธ์แบบองค์รวม ประกอบด้วย 1) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและนิเวศน์ประชาธิปไตย 2) ทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์อย่างเป็นระบบ และ 3) คุณค่าต่างๆ ที่สะท้อนถึงเสรีภาพของปัจเจก 

คู่มือต้นแบบการศึกษาประชาธิปไตย ได้ถอดบทเรียนกระบวนการออกแบบการศึกษาภาคพลเมืองที่มีประสิทธิภาพว่าควรมี 1) การระบุปัญหาและอุปสรรคที่ชัดเจน 2) ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย 3) สร้างพื้นที่และโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมือง 4) ให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน (ของกลุ่มเป้าหมาย) 5) ฝึกอบรมผู้อบรม 6) การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 7) คำนึงถึงความหลากหลายทางอัตลักษณ์ 8) หลีกเลี่ยงการสร้างความคาดหวังที่เกินจริง และ 9) สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมผ่านครู ผู้ปกครอง และโรงเรียน นอกจากนี้ยังนำเสนอคุณลักษณะที่หนุนเสริมการจัดการศึกษาภาคพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ ว่าควรมีลักษณะ 1) การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง/หรือบทเรียน เพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง กล่าวคือจะต้องมีการจัดกระบวนการในห้องเรียนโดยมีเนื้อหาเรื่องประชาธิปไตยและหน้าที่พลเมืองเป็นแก่นกิจกรรม ความต่อเนื่องนี้จะช่วยให้การเรียนรู้ไม่สะดุด และทำให้ผู้เรียนเห็นภาพกว้างและความเชื่อมโยงชัดเจน 2) ใช้แนวทางการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม โดย 3) ผู้สอนที่มีความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียน (McQuoid-Mason, 2013)

เกมจำลองเมืองประชาธิปไตย: ตัวอย่างนวัตกรรมบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม

ด้วยเห็นข้อจำกัดของประชาธิปไตยศึกษาในประเทศไทย ที่มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบการบรรยายในห้องเรียน (Barada, 2014) และมีสภาพแวดล้อมความเป็นประชาธิปไตยจำกัด (for) ทำให้ผู้เรียนไม่เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่ “ต้องเรียน” และไม่เห็นถึงผลกระทบที่การเมืองจะมีต่อชีวิตพวกเขา (Adam et al., 2013) ประกอบกับความคิดเห็นของเยาวชนไม่ได้รับความสำคัญ หรือกระทั่งไม่มีพื้นที่รับฟังเสียงเยาวชน (Adam et al., 2013) เป็นเหตุให้เยาวชนมีความตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจำกัด

 

ภาพการจัดกิจกรรม "นวัตกรรมบอร์ดเกม: เกมจำลองเมืองประชาธิปไตย" เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทดลองศึกษาประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม

(ที่มา: https://www.facebook.com/SIMDemocracy)

จากภาพอนาคตที่ต้องการเห็นเยาวชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมือง นำมาสู่การออกแบบสื่อการเรียนรู้เพื่อประชาธิปไตยศึกษา ที่ประกอบด้วยเนื้อหาและแนวทางการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กับผู้เรียน เกมจำลองเมืองประชาธิปไตย เริ่มต้นพัฒนาในปี พ.ศ. 2553 โดยมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย เป็นสื่อการเรียนรู้ประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม มุ่งหวังให้ผู้เล่นได้เรียนรู้และเข้าใจคุณค่า กระบวนการ และบทบาทของสถาบันในสังคมประชาธิปไตย ผ่านการสวมบทบาทเป็นพรรคการเมือง ประชาชน และรัฐบาลในสังคมประชาธิปไตย

ตัวอย่าง บอร์ดเกม: เกมจำลองเมืองประชาธิปไตย (Sim Democracy)ภาพตัวอย่างบอร์ดเกม: เกมจำลองเมืองประชาธิปไตย (Sim Democracy) พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย

(ที่มา: https://www.facebook.com/SIMDemocracy)

เกมจำลองเมืองประชาธิปไตย ออกแบบโดยจำลองเมืองออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่การศึกษา (โรงเรียน) พื้นที่ความปลอดภัย (สถานีตำรวจ) พื้นที่สาธารณสุข (โรงพยาบาล) และพื้นที่สิ่งแวดล้อม (ป่าไม้) ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นตัวแทนของแต่ละพื้นที่ลงสมัครเป็นผู้บริหารเมือง โดยพวกเขามีส่วนในการออกแบบและกำหนดนโยบายสาธารณะที่ใช้ในการแข่งขันชิงตำแหน่ง จากนั้นผู้เล่นก็จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนที่ตนคิดว่าเหมาะสมจะเป็นผู้บริหาร เมื่อได้ผู้บริหารเมือง หรือรัฐบาล บทบาทของผู้เล่นจะปรับเป็นประชาชนกับรัฐบาล ในช่วงนี้รัฐบาลมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการเมือง บริหารงบประมาณ จัดสรรทรัพยากร เพื่อให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี รวมถึงปกป้องและการันตีสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมี ในส่วนของประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงาน จัดสรรงบประมาณของรัฐบาล สื่อสารความต้องการและเจรจากับรัฐบาล รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและภาคพลเมือง ในกรณีที่รัฐบาลดูแลไม่ทั่วถึง ด้วยเหตุนี้เกมจำลองเมืองประชาธิปไตยเป็นเกมกระดานที่เปิดพื้นที่ในการอภิปราย ถกเถียง วิเคราะห์ วิพากษ์ให้กับเยาวชน ได้เรียนรู้กระบวนการกำหนดนโยบาย ช่องทางการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้เยาวชนได้เป็นพลเมืองตื่นรู้และมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ต่อไป (Barada, 2014)

เกมจำลองเมืองประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้ผู้เล่นได้เริ่มพูดคุย แสดงความเห็น ถกเถียง และเจรจา ซึ่งเป็นคุณค่าแห่งเสรีภาพในการแสดงความเห็นและคุณค่าแห่งปัจเจก ที่เสรีนิยมประชาธิปไตยยึดถือเป็นพื้นฐาน อย่างไรก็ดีเกมจำลองเมืองประชาธิปไตยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการจุดประกายความเป็นพลเมือง และคุณค่าพื้นฐานให้กับผู้เล่นเท่านั้น เนื่องจากกลไกและสถานการณ์ต่างๆ เช่น กลไกนิติบัญญัติ หรือการตรวจสอบถ่วงดุล ก็ไม่ได้เป็นกติกาตัดสินถูกผิดในเกม แต่เกมต้องอาศัยการเสริมเติมหลักการจากผู้นำเกม (Play Coach) ประกอบการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพเช่นกัน ซึ่งพบว่าผู้นำเกมมีแนวทาง วิธีการนำเกมแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ในการอบรมเกมแต่ละครั้งยังต้องใช้ผู้นำเกมเป็นจำนวนมาก (Heydt, 2015)

เกมจำลองเมืองประชาธิปไตยฉายภาพกรอบคิด หลักการประชาธิปไตยและคุณค่าความยุติธรรม ซึ่งเป็นสากล ประกอบกับกลไกเกมมีส่วนให้ผู้เล่นรู้สึกเชื่อมโยงกับประสบการณ์และเห็นว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ระบอบการปกครอง หากแต่เป็นวิถีชีวิต (Barada, 2014) เกมจำลองเมืองประชาธิปไตยเชื่อว่าแต่ละพื้นที่มีบริบทและคุณลักษณะที่เกื้อหนุนการเติบโตของประชาธิปไตยแตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ การนำเกมจำลองเมืองประชาธิปไตยไปใช้ จึงเป็นการนำไป “ปรับใช้” (Localize) ให้เข้ากับบริบทพื้นที่ ไม่ใช่แค่การแปลตัวบท (Heydt, 2015)

เนื่องจากเกมจำลองเมืองประชาธิปไตยต้องอาศัยผู้นำเกมจำนวนมากในระยะเริ่มต้น จึงเกิดการทดลองนำเกมจำลองเมืองประชาธิปไตยไปปรับใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้กลไกเกมจำลองเมืองประชาธิปไตยกับผู้เล่นจำนวน 50 คน โดยทั้ง 50 คนอยู่ในกระดานเสมือนเดียวกัน นอกจากนี้ในกิจกรรมประชาธิปไตยศึกษาส่วนมากจะต้องมีกิจกรรมเตรียมความพร้อมและการถอดบทเรียนควบคู่ไปด้วย เช่น การค้นหาคุณค่าประชาธิปไตย การเล่นเกมเส้นเวลาประชาธิปไตยไทย การโต้วาทีคุณค่าประชาธิปไตย รวมถึงการสะท้อนการเรียนรู้หลังจากจบการอบรม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และให้ผู้เข้าร่วม และฉายภาพการเรียนรู้ให้กับผู้พัฒนาเกมในการปรับปรุงต่อไป

ตลอด 10 ปี จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 เกมจำลองเมืองประชาธิปไตย เริ่มจากความต้องการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย ทั้งในมิติเนื้อหาและคุณค่าของประชาธิปไตย ควบคู่กับแนวทางการเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้เกมจำลองเมืองประชาธิปไตยก็ได้พัฒนาและปรับปรุงวิธีการนำไปใช้ในประชาธิปไตยศึกษาอยู่เสมอ เพื่อให้การศึกษาประชาธิปไตยตอบสนองต่อบริบทที่แตกต่างกันหากแต่ยังคงคุณค่าและหลักการของประชาธิปไตยไว้ เป็นเปรียบได้กับการเพิ่มคำคุณศัพท์ให้กับเกมจำลองเมืองประชาธิปไตยนั่นเอง
 
 



 

เอกสารอ้างอิง 



    • ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2562). ประชาธิปไตย: หลากความหมาย หลายรูปแบบ. กรุงเทพฯ: ศยาม.

    • Adam, R., Dusadeeisariyakul, P. & Fourniotis, B. (2013). Future Search - “Dream Thailand”. In Best Practices Manual on Democracy Education (pp. 125-127), Council for a Community of Democracy (CCD).

    • Euro News. (2014). Learning through "serious games" - learning world. Learning through "serious games" - learning world. https://www.youtube.com/watch?v=MUn3hVZ-ejk.

    • Heydt, J. (2015), Lab 2 Understanding Democracy. In From Participation to Influence: Can Youth Revitalise Democracy? (pp. 22-24). essay, Council of Europe.

    • McQuoid-Mason, D. (2013). Introduction to Democracy Education. In Best Practices Manual on Democracy Education (pp. 1-36). essay, Council for a Community of Democracy (CCD).



 


  



ประวัติผู้เขียน


สิรินธารา ตีระมาศวณิช

จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง'65) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย
กิจกรรมยามว่างชอบเดินเที่ยวแถวท่าพระจันทร์ ท่าพระอาทิตย์ วัด วัง ร้านกาแฟบริเวณใกล้เคียง
 



บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk

 
 
บทความอื่น ๆ ในหมวด
ทบทวนแนวโน้มสถานการณ์ความมั่นคงของโลก สิ่งที่ไทยควรตระหนักและเตรียมการรับมือ
สายรุ้งที่ฉันฝันหา: ขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall ที่แอฟริกาใต้
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ต่อผู้เลือกตั้งชนบท
Digital Transformation กับนวัตกรรมการจัดบริการสาธารณะ : บทเรียนจากเอสโตเนีย เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย
 

จำนวนคนอ่าน 5275 คน ยังไม่มีผู้โหวต
 
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอบทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
 


 
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555