สิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์
 
Book Review (I)

18 ธันวาคม 2562

รีวิวหนังสือน่าอ่าน (I)

โดย ชุติเดช เมธีชุติกุล 
นักศึกษาปริญญาโท (สาขาวิชาการเมืองการปกครอง) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  

ธเนศ วงศ์ยานนาวา และเพื่อน. (2561). ครอบครัวจินตกรรม: บทวิพากษ์ว่าด้วยชุมชนการปกครอง และรัฐ.

กรุงเทพฯ: Illuminations Editions. (จำนวน 301 หน้า, ราคา 380 บาท)

 

 
           หนังสือเล่มนี้เป็นการนำบทความแปลของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา จากบทความภาษาอังกฤษชื่อ “Policing the Imagined Family and Children in Thailand: From Family Name to Emotional Love.” (ใน Thanes Wongyannava. (2008). “Policing the Imagined Family and Children in Thailand: From Family Name to Emotional Love.” In Shigeharu Tanabe. (ed.) Imagining communities in Thailand: ethnographic approaches. Chiang Mai, Thailand: Mekong Press.) แปลเป็นไทยโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ในชื่อ “การสอดส่องดูแลเด็กกับครอบครัวจินตกรรมในประเทศไทยจากนามสกุลสู่รักทางอารมณ์” และมีการเขียนบทความอื่นๆ เพิ่มเติมจากทั้งตัวของธเนศเอง และเพื่อน (ได้แก่ ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร ภาคิน นิมมานนรวงศ์ พิพัฒน์ พสุธารชาติ และเก่งกิจ กิติเรียงลาภ)

               เราอาจพอสรุปเนื้อหาของบทความนี้ได้ใน 4 คำ โดยยืมคำ 4 คำนี้จากคุณภาคินในบทสัมภาษณ์ของเขาเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ใน Youtube ที่ทำโดย Illuminations Editions นั้นคือ ครอบครัว โรงเรียน เศรษฐกิจสมัยใหม่ และรัฐสมัยใหม่(https://www.youtube.com/watch?v=a-CotHxo6I0&list=PLKXeVz1m9jEZA4CCdZD-7mGxiG4r0AZZz&index=3) บทความชิ้นนี้เป็นความพยายามทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของคำทั้ง 4 คำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกที่รัฐสมัยใหม่ใช้อย่าง “ครอบครัว” สำหรับเข้าไปควบคุมประชาชนเพื่อเป็นการรับประกันถึงผลประโยชน์แห่งรัฐ ดังนั้นการเข้าใจรัฐสมัยใหม่ (รัฐไทย) ก็อาจสามารถทำความเข้าใจได้ผ่านกระบวนการที่รัฐเข้าไปควบคุมครอบครัว ในแง่นี้ “ครอบครัวจินตกรรม” (Imagined Families) จึงอาจมีพลังมากกว่า “ชุมชนจินตกรรม” (Imagined Communities) ต่อการสร้างความรู้สึกร่วมของรัฐสมัยใหม่ดังที่ Benedict Anderson เสนอ เพราะชุมชนจินตกรรมนั้นเป็นเรื่องของภราดรภาพและเพื่อนที่มีสถานะเท่ากันหากคุณเป็นคนชาติเดียวกัน (แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่เคยเท่าเทียมกัน) ซึ่งต่างจากครอบครัวจินตกรรมที่เน้นความไม่เท่าเทียมกันเป็นสำคัญโดยสะท้อนจากโครงสร้างในครอบครัวที่สถานะพ่อจะสูงกว่าแม่และลูก ในหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่มจึงเป็นการถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ทั้งเป็นการเสริม คลี่คลายปมปัญหา รวมถึงชี้ให้เห็นถึงชุดคำอธิบาย และตรรกะความสัมพันธ์ต่างๆ ที่รัฐเป็นจุดศูนย์กลางของการจัดการชีวิตผู้คนผ่านกลไกต่างๆ อย่าง “ครอบครัว”

           ในบทความชิ้นอื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้ ได้ช่วยเสริมและขยายประเด็นดังกล่าว ทั้งการลงไปศึกษาหลักฐานชั้นต้นในเมืองไทยทั้งในเรื่องของ “เด็ก” “ครอบครัว” และ “นามสกุล” เพื่อช่วยทำให้เห็นถึงความหนักแน่นของสิ่งที่เรียกว่า “ครอบครัวจินตกรรม” และกรอบคิดอย่าง “เทคนิคการปกครอง” (Governmentality นอกจากนี้ยังการมีแปลคำนี้เป็นภาษาไทยแบบอื่นๆ อีก เช่น “ศิลปะการปกครอง” “การปกครองชีวญาณ” “การปกครองจินตทัศน์” เป็นต้น) ของ Foucault ที่ธเนศนำมาใช้ในการศึกษาในบทความของเขา รวมถึงการวิเคราะห์ความคิดเบื้องหลังชุดคำอธิบายดังกล่าวของธเนศว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากงานของนักมานุษยวิทยา 2 คน คือ Pierre Clastres นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส และ James C. Scott นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ปิดท้ายด้วยบทตอบของธเนศต่อคำอธิบายเพิ่มเติมและข้อวิจารณ์ต่างๆ ต่องานของเขา

           ดังนั้นแล้วหนังสือเล่มนี้จะช่วยเผยให้เห็นความสำคัญของ “ครอบครัว” ในทางการเมือง และการเป็นเครื่องมือของรัฐชาติสมัยใหม่ในการสร้างกลไกการปกครองและครอบงำผู้คน ในแง่นี้การให้ความสนใจและเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่อง “ครอบครัว” นั้นไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของการอำนวยความสะดวกต่างๆ หรือสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นในเรื่องของอำนาจรัฐที่ต้องการเข้าไปควบคุมทุกอณูชีวิตของพลเมืองของรัฐ หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับผู้สนใจประเด็นดังกล่าวอย่างยิ่งเพื่อที่จะทำความเข้าใจ “รัฐ” ในปัจจุบันอย่างรอบด้านผ่านอีกมิติหนึ่งอย่าง “ครอบครัว” ที่ถูกละเลย

..............................

 

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2562). ไทยปิฎก: ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนาไทย.

กรุงเทพฯ: Illuminations Editions. (จำนวน 416 หน้า, ราคา 480 บาท)


           

           สำหรับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้นั้นชื่อสร้อยของหนังสือพอที่จะสรุปความได้ครอบคลุมเนื้อหาของหนังสือทั้งเล่มว่าหนังสือเล่มนี้กำลังพูดเกี่ยวกับอะไร นั้นคือ “ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนาไทย” ที่มีอะไรหลายอย่างแอบซ่อนอยู่ในพุทธศาสนาไทยภายใต้เบื้องหลังศีลธรรมอันสูงส่งนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนหนึ่งสิ่งที่แลดูน่าพิศวง และลึกลับ เปรียบประหนึ่งแดนสนธยา แต่ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดให้เรารู้สึกอัศจรรย์ใจ และฉงนสงสัยไปกับสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ คำว่า “ไทยปิฏก” พอที่จะสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและซ้อนทับกันในหลายๆ เรื่องที่พุทธศาสนาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายๆ สิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และอำนาจ สิ่งเหล่านี้ต่างมีปฏิสัมพันธ์กับพุทธศาสนาไทย บางครั้งสิ่งเหล่านี้กำหนดรูปแบบการกระทำต่อพุทธศาสนาไทย แต่บางครั้งพุทธศาสนาไทยกลับกลายเป็นผู้ชี้นำสิ่งเหล่านี้เสียเอง

            ในแง่นี้หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามที่ต้องการเผยให้เห็นถึงอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองสังคมของพุทธศาสนาไทยตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2475 ผ่านพัฒนาการและพลวัตต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แม้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่คู่ขนานกัน แต่เอาเข้าจริงแล้วต่างส่งผลต่อกันตลอดประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยกว่า 80 ปีที่ผ่านมา โดยหนังสือเล่มนี้แบ่งเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนาไทย” ออกเป็น 3 บทด้วยกัน ได้แก่ บทที่ 1 ความเยาว์วัย บทที่ 2 ความกลัว-ความหลงใหล และบทที่ 3 ความเหนือกว่า-ความแปลกแยก ที่พยายามจัดแบ่งและบ่งบอกถึงลักษณะบางอย่างที่มีร่วมกันในแต่ละช่วงเวลา โดยครอบคลุมเรื่องต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างมหานิกายและธรรมยุติ ประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.สงฆ์ ปี พ.ศ. 2484 การเกิดขึ้นของความสัมพันธ์แบบ “พุทธศาสนา-ราชาชาตินิยม” แนวคิดเรื่อง “จิตนิยม-ประวัติศาสตร์” กลไกของเรื่องเล่าที่ถูกทำขึ้นเพื่อทำลายขั้วตรงข้ามในวงการสงฆ์ไทย การช่วงใช้พุทธศาสนาไทยในทางการเมืองอย่างกรณีการตีความกึ่งพุทธกาลโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงปี พ.ศ.2500 บทบาทของพระปัญญาชนหัวก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็น พุทธทาสภิกขุ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ป.อ. ปยุตฺโต จนถึงความขัดแย้งล่าสุด กรณีวัดพระธรรมกาย นี้คือประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนาไทยที่ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ได้นำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือเล่มนี้

............................

 

สิกขา สองคำชุม (บก.) (2562).'พระจอมเกล้าฯ พยากรณ์: ความย้อนแย้งของ 
“ดาราศาสตร์” กับ “โหราศาสตร์” ในสังคมไทยสมัยใหม่'. 

กรุงเทพฯ: Illuminations Editions. (จำนวนหน้า 368, ราคา 450 บาท)

 

  

            หนังสือ 'พระจอมเกล้าฯ พยากรณ์: ความย้อนแย้งของ “ดาราศาสตร์” กับ “โหราศาสตร์” ในสังคมไทยสมัยใหม่' เป็นหนังสือรวมบทความที่รวมบทความที่ตีพิมพ์เก่าสุดในปี พ.ศ.2511 ใหม่สุดในปี พ.ศ. 2561 จำนวน 8 บทความ และมีบทความแปลจากภาษาอังกฤษ 1 ชิ้น โดยมี      คุณสิกขา สองคำชุม เป็นบรรณาธิการ ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ “การพยายามทำความเข้าใจว่า รัชกาลที่ 4 พยากรณ์สุริยุปราคาได้อย่างไร” ถึงที่สุดแล้วบทความในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ต้องการที่จะตัดสินหรือหาบทสรุปที่ชัดเจนต่อคำถามนี้ เพียงแต่นำเสนอมุมมองที่หลากหลายในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยภาพรวมแล้วทั้ง 8 บทความในหนังสือเล่มนี้ได้เสนอ มุมมองทางวิทยาศาสตร์/ดาราศาสตร์ หรืออาจเรียกว่าเป็น “วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์” หรือ “Pure Science” มุมมองด้านโหราศาสตร์ มุมมองผสมผสานระหว่างดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ มุมมองทางคณิตศาสตร์ และมุมมองในเชิงบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์ มุมมองต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกแบ่งแยกย่อยในหนังสือโดยแบ่งกลุ่มบทความ ออกเป็น 3 ภาคด้วยกัน ได้แก่ 

            ภาค 1 ดาราศาสตร์/โหราศาสตร์: “คู่ตรงข้าม” หรือ “ผสมผสาน”? เป็นบทความที่เป็นตัวแทนของมุมมองกระแสหลักอย่างมุมมองแบบวิทยาศาสตร์/ดาราศาสตร์ และมุมมองทางโหราศาสตร์ รวมถึงการมองการทำความเข้าใจในเรื่องการพยากรณ์สุริยุปราคาของรัชกาลที่ 4 เป็นเรื่องของการผสมผสานระหว่างดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามตามแบบที่โลกสมัยใหม่เข้าใจ มีด้วยกัน 4 บทความ

          ภาค 2 พหูพจน์ของความรู้ใน “สรรพคราสหว้ากอ” เป็นบทความที่พยายามใช้หลักฐานชั้นต้นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพยากรณ์สุริยุปราคาของรัชกาลที่ 4 และการทำความเข้าใจบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนั้นผ่านเอกสารชั้นต้น สำหรับการทำความเข้าใจและตีความความเป็นไปได้ต่างๆ ในประเด็นนี้ มีด้วยกัน 3 บทความ

            ภาค 3 หลังหว้ากอ: การเมืองของความทรงจำ เป็นบทความที่พูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา และกระบวนการสร้าง “ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้เป็นวิชาชีพในเมืองไทย” ผ่านการตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และการสถาปนากระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงานในปี พ.ศ. 2522 (ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”) รวมถึงได้แยกด้านพลังงานออกมาเป็น “กระทรวงพลังงาน” ในเวลาต่อมา กระบวนการดังกล่าวนี้คือ ความพยายามในหลายช่วงเวลาที่จะสถาปนาความมั่นคงผ่านการสร้างความเป็นสถาบันให้กับ “วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์” หรือ “Pure Science” และประเด็นดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวโยงอย่างสำคัญกับการสถาปนารัชกาลที่ 4 เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ในปี พ.ศ.2525 โดยการเสนอของ ดร.ขาว เหมือนวงศ์ (ซึ่งผลงานชิ้นสำคัญที่ ดร.ขาว ใช้ในการเสนอให้สถาปนารัชกาลที่ 4 เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ก็คือบทความ 2 ชิ้นแรกในเล่มนี้)

............................
 

 
 
บทความอื่น ๆ ในหมวด
ทบทวนแนวโน้มสถานการณ์ความมั่นคงของโลก สิ่งที่ไทยควรตระหนักและเตรียมการรับมือ
สายรุ้งที่ฉันฝันหา: ขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall ที่แอฟริกาใต้
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ต่อผู้เลือกตั้งชนบท
Digital Transformation กับนวัตกรรมการจัดบริการสาธารณะ : บทเรียนจากเอสโตเนีย เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย
 

จำนวนคนอ่าน 2631 คน จำนวนคนโหวต 1 คน
 
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอบทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
 


 
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555