DJ-Menu

ปาฐกถาในวาระ 65 ปีแห่งการสถาปนาคณะรัฐศาสตร์

 

ปี พ.ศ. 2557 ถือเป็นปีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งมาครบ 65 ปี เพื่อฉลองวาระดังกล่าว ทางคณะได้จัดงานปาฐกถาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557 โดยเลือกเอาหัวข้อ “ร่องรอยความปรองดองใต้เงาความขัดแย้ง” มานำเสนอ เพื่อเป็นการเชิญชวนให้สังคมไทยได้ฉุกคิดถึงการสมานฉันท์ที่อาจช่วยเสนอทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมยุคปัจจุบัน องค์ปาฐกของงานคือ ศาตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง และประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธีในสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยช่วงต้น อ.ชัยวัฒน์ ได้ฝากบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับความปรองดองไว้ 3 เรื่องคือ

“1.  ปรกติความพยายามปรองดองและคณะทำงานเพื่อความปรองดอง เกิดขึ้นหลังจากความรุนแรง และ/หรือ ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในสังคมยุติลง ... การทำงานปรองดองในบริบทที่ความขัดแย้งหนักหนา และความแตกต่างถึงขั้นแตกแยกร้าวรานสังคมอย่างหนัก แม้จะเป็นสิ่งจำเป็นควรต้องสร้างให้เกิดขึ้น แต่ก็ทำได้ยากเย็นเป็นที่สุด”

“2.  งานศึกษาเกี่ยวกับการปรองดองระยะหลังให้ความสำคัญกับตัวแปรระดับท้องถิ่น ... เพราะข้อค้นพบที่ว่า แนวทางการปรองดองประเภท “เสื้อมีขนาดเดียว ทุกคนต้องใส่ได้เหมือนกันหมด” มักทำงานปรองดองไม่สำเร็จ เหตุผลสำคัญคือความเป็นจริงที่ว่ามนุษย์เรามีขนาดต่างกัน และทุกผู้คนล้วนมีชีวิตทางสังคมบนพื้นฐานความหลากหลายทาง ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ตัวอย่างเช่นแนวทางการทำงานปรองดองที่ใช้ได้ผลในภาคใต้ตอนบน อาจไม่มีผลมากนักในภาคใต้ตอนล่าง เป็นต้น การตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลายน่าจะส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงานปรองดอง”

“3.  ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของผู้สนใจสร้างความปรองดอง คือ ต้องเข้าใจให้ได้ว่าทั้งการปรองดองและตนเองอยู่ตรงไหนในแผนที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ นอกจากคนที่พยายามสร้างการปรองดองต้องตั้งคำถามว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่พยายามเข้าไปแก้ไขหรือไม่อย่างไรแล้ว ยังต้องเข้าใจด้วยว่า เราอาจบังคับให้คนที่ไม่ถูกกันมาอยู่ในที่เดียวกันได้ กระทั่งกำหนดให้มีการลงนามในสนธิสัญญาบางประเภทได้”

 

  • คลิกเพื่อรับชมปาฐกถาฉบับเต็มทาง YouTube