DJ-Menu

ปกิณกะ: การเลือกตั้งประธานาธิบดีในลาตินอเมริกา

โดย อ.สิเรมอร อัศวพรหมธาดา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 

          ปี 2014 เป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในภูมิภาคลาตินอเมริกาถึง 7 ประเทศ ได้แก่ โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย คอสตาริก้า เอล ซาลวาดอร์ ปานามา และอุรุกวัย โดย 3 ประเทศในนี้ ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย แลอุรุกวัยจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

          บราซิลกำหนดให้วันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคมปีนี้คือวันที่ 5 เป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญของบราซิลกำหนดให้ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้วหนึ่งสมัยสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อได้อีกหนึ่งสมัยติดต่อกัน โดยประธานาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ดังนั้นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Dilma Rousseff จึงลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในฐานะตัวแทนจาก Workers’ Party ในขณะที่ 2 คู่แข่งคนสำคัญได้แก่ Marina Silva อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมสมัยประธานาธิบดี Luiz Ignacio ‘Lula’ da Silva และ Aecio Neves วุฒิสมาชิกจาก Brazilian Social Democracy Party

         Marina Silva เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เธอเป็นตัวแทนจาก Brazilian Socialist Party ที่พรรคส่งลงสมัครแทน Eduardo Campos อดีตผู้ว่าการรัฐ Pernambuco ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตัวแทนที่พรรคส่งลงสมัครก่อนหน้านี้ แต่เขาประสบอุบัติเหตุทางเครื่องบินเสียชีวิตไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในวัยเด็ก Marina Silva เป็นคนที่มีฐานะยากจนมาก แต่เธอมีความพยายามในการเรียนอ่านด้วยตัวเองจนกระทั่งเป็นครูได้ในที่สุด และต่อมาเธอทำงานเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจนมีชื่อเสียง

            ผลสำรวจความคิดเห็นในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า Marina Silva ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากขึ้นตามลำดับ จนมีการคาดการณ์กันว่าอาจต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่สองในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม คือวันที่ 26 ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรก อย่างไรก็ตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่รวมทั้งนักวิเคราะห์ยังคงเห็นว่าประธานาธิบดี Dilma Rousseff จะยังคงรักษาตำแหน่งไว้ได้และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง

           สำหรับประเทศโบลิเวีย ประธานาธิบดี Evo Morales ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2005 และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องสมัยถัดมาในปี 2009 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญของโบลิเวียกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัยต่อเนื่องกัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเมื่อเดือนเมษายน 2013 ว่าการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกของ Evo Morales ระหว่างปี 2005-2009 ไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่แก้ไขเมื่อปี 2010 ดังนั้น Evo Morales จึงสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปีนี้ได้ เนื่องจากหากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งก็จะเป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเป็นสมัยแรกตามการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

sing1                          sing2

           มีการคาดการณ์กันว่า Evo Morales จะชนะการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งนี้ตั้งแต่การเลือกตั้งรอบแรกที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม แม้ว่าจะมีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีอีก 4 คน ได้แก่ 1) Samuel Doria Medina ผู้ที่เคยลงสมัครเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา 2) Juan del Granado ผู้เคยเป็นพันธมิตรกับรัฐบาล Evo Morales ในอดีต 3) Fernando Vargas ตัวแทนจากชนพื้นเมืองที่รวมตัวกันตั้งเป็นพรรคการเมืองเล็กภายใต้ชื่อ Green Party และ 4) Jorge Quiroga Ramirez อดีตประธานาธิบดีโบลิเวีย

        ข้อสังเกตหนึ่งคือ ยิ่งพรรคต่างๆส่งตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมากเท่าไหร่ Evo Morales อาจยิ่งได้เปรียบ เนื่องจากจะทำให้คะแนนเสียงของฝ่ายที่คัดค้านเขายิ่งอ่อนแอมากขึ้น และ Evo Morales ยิ่งมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในรอบแรกอย่างง่ายดายมากขึ้นจากฐานเสียงของเขาที่มีมาก การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่สองจะเกิดขึ้นในกรณีที่การเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง หรือได้คะแนนเสียงร้อยละ 40 และมีคะแนนห่างจากผู้สมัครคนที่ได้คะแนนลำดับต่อไปมากกว่าร้อยละ 10 โบลิเวียได้กำหนดการเลือกตั้งรอบที่สองไว้แล้วคือวันที่ 7 ธันวาคม

 ประเทศสุดท้ายในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่จะมีการเลือกประธานาธิบดีในปีนี้คืออุรุกวัยที่มีการกำหนดวันเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกวันที่ 26 ตุลาคม รัฐธรรมนูญของอุรุกวัยไม่ให้ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยติดต่อกัน ต้องมีการเว้นวรรคไปก่อนหนึ่งสมัยจึงสามารถกลับเข้ามาสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีก ทำให้ประธานาธิบดีของอุรุกวัยในปัจจุบัน Jose Mujica ที่ได้รับการขนานนามจากสำนักข่าว BBC ว่าเป็น “ประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก” จากการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่สามารถลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่อดีตประธานาธิบดี Tabare Vazquez ที่เว้นจากการเป็นประธานาธิบดีมาหนึ่งสมัยเป็นตัวแทนจากพรรคร่วม Board Front สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน

          ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนสำคัญได้แก่ Tabare Vazquez อดีตประธานาธิบดีจากพรรคร่วมในนาม Board Front และผู้สมัครจาก 2 พรรคการเมืองเก่าแก่ฝ่ายซ้ายกลางของอุรุกวัย ได้แก่ Luis Lacalle Pou จาก National Party บุตรชายอดีตประธานาธิบดีปี 1990-1995 Luis Alberto Lacalle และ Pedro Bordaberry จาก Colorado Party บุตรชายของอดีตประธานาธิบดี Juan Maria Bordaberry ประธานาธิบดีในช่วง 1970s ที่ถูกทหารใช้อำนาจเผด็จการเข้าควบคุมการปกครอง

        ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธ์เลือกตั้งจำนวนหนึ่งพบว่าอาจไม่มีผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งรอบแรก จนทำให้ต้องมีการเลือกตั้งรอบที่สองในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน และในที่สุดอดีตประธานาธิบดี Tabare Vazquez จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และจะเป็นการรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคร่วม Board Front เป็นเวลาหนึ่งทศวรรษหลังจากที่พรรคร่วมมีตัวแทนเป็นประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2004

            ขอขอบคุณภาพประกอบบทความจาก:

            Agencia Brasilb (http://en.wikipedia.org/wiki/Dilma_Rousseff#mediaviewer/File:DilmaEleita01.jpg)
            Joel Alvarez (http://en.wikipedia.org/wiki/Evo_Morales#mediaviewer/File:Evo_morales_2_year_bolivia_Joel_Alvarez.jpg)

 

คลังปกิณกะ


 

  • การเลือกตั้งรัฐสภายูเครน: สันติภาพหลังเลือกตั้ง? (โดย อ.จิตติภัทร พูนขำ)
  • แนะนำวันสันติภาพไทย (โดย อ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ)
  • ปัญหายูเครนภาคตะวันออก: มุมมองของรัสเซีย (โดย อ.จิตติภัทร พูนขำ)