DJ-Menu

ปกิณกะ: การเลือกตั้งรัฐสภายูเครน: สันติภาพหลังเลือกตั้ง?

โดย จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 

          “การเลือกตั้งรัฐสภายูเครนที่เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีต่อประชาชนชาวยูเครนทุกคน” ประธานาธิบดี Petro Poroshenko ได้ทวิตข้อความในวันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2014 ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนชาวยูเครนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายูเครนเป็นครั้งแรกภายหลังจากการชุมนุมประท้วง Euromaidan ซึ่งทำให้ประธานาธิบดี Viktor Yanukovych ตกจากอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อต้านขัดขืนของกองกำลังติดอาวุธในยูเครนภาคตะวันออก หรือ “สาธารณรัฐประชาชน” ของเมือง Donetsk และ Luhansk ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของฝ่ายนิยมตะวันตกในยูเครน

          รัฐสภายูเครน

          รัฐสภายูเครน (Verkhovna Rada) เป็นระบบสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจำนวน 450 คน โดยประกอบด้วยสมาชิกสองประเภท ได้แก่ (1) สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ (party list system) จำนวน 225 คน โดยนับคะแนนเสียงจากทั่วประเทศ และต้องมีคะแนนเสียงขั้นต่ำร้อยละ 5 และ (2) สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งระบบเขตเดียวเบอร์เดียว จำนวน 225 คน โดยนับจากคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกสูงสุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง (first-past-the-post system) อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีสมาชิกรัฐสภาจากระบบเขตเดียวเบอร์เดียวเพียงแค่ 198 คน ทั้งนี้เนื่องจากอีก 27 ที่นั่งในไครเมียและบริเวณที่กลุ่มกบฏยึดครองในยูเครนภาคตะวันออก ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ โดยในบริเวณที่กลุ่มกบฏยึดครองจะมีการจัดการเลือกตั้งต่างหากในวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2014 ในขณะที่ในไครเมีย จะไม่มีการจัดการเลือกตั้งแต่อย่างใด เนื่องจากการผนวกรวมกับประเทศรัสเซียหลังการลงประชามติของชาวไครเมียตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา

          ผลการเลือกตั้งรัฐสภายูเครนเบื้องต้น

         ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 29 พรรค และมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณร้อยละ 52 โดยผลการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อมีการนับคะแนนแล้ว ในขณะที่ผลการเลือกตั้งแบบระบบเขตเดียวเบอร์เดียวต้องรอผลการนับคะแนนต่อไป จากการนับคะแนนเบื้องต้นในระบบบัญชีรายชื่อ ณ ขณะนี้ (ร้อยละ 93) พรรคที่มีคะแนนเกินจากเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 ได้แก่

  • พรรค People’s Party นำโดยนายกรัฐมนตรี Arseniy Yatsenyuk ได้คะแนนร้อยละ 22.21
  • กลุ่ม Petro Poroshenko (Poroshenko Bloc)ซึ่งประกอบด้วยพรรค Solidarity นำโดยประธานาธิบดี Petro Poroshenko และพรรค UDAR (Ukrainian Democratic Alliance for Reforms) นำโดย VitaliKlischko อดีตนักมวยรุ่น heavyweight และนายกเทศมนตรีแห่งกรุงเคียฟ ได้คะแนนร้อยละ 21.8
  • พรรค Self Help (Samopomich) นำโดย AndriySadovyi นายกเทศมนตรีแห่งเมืองลาวีฟ (Lviv) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากนักเคลื่อนไหวในขบวนการ Euromaidan และมีฐานเสียงในยูเครนภาคตะวันตก ได้คะแนนเสียงร้อยละ 11
  • กลุ่มฝ่ายค้าน (the Opposition Bloc) นำโดย Yuriy Boyko อดีตรัฐมนตรีพลังงานในสมัย Yanukovych ได้คะแนนเสียงร้อยละ 9.3 กลุ่มฝ่ายค้านแยกตัวออกมาจากพรรค Party of Regions ของอดีตประธานาธิบดี Viktor Yanukovych
  • พรรค Radical Party นำโดย Oleh Lyashko ได้คะแนนเสียงร้อยละ 7.45
  • พรรค Fatherland (Batkivshchyna) นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี Yulia Tymoshenko ได้คะแนนเสียงร้อยละ 5.69
  •          พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดหรือนิยมฟาสซิสต์นาซี ได้คะแนนเสียงค่อนข้างน้อย และไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 เช่น พรรค Svoboda นำโดย Oleh Tyahnybok ได้คะแนนเสียงร้อยละ 4.72 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่าพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดอาจจะได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบระบบเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

    sing1                          sing2

              ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเลือกตั้งรัฐสภายูเครน

              ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการเลือกตั้งรัฐสภายูเครนครั้งนี้ ได้แก่ ประการแรก นักธุรกิจน้อยคนลงสมัครรับเลือกตั้ง และพยายามเก็บเนื้อเก็บตัว ซึ่งแตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่นักธุรกิจขนาดใหญ่มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้ง ประการที่สอง นักรณรงค์เคลื่อนไหวภาคประชาสังคมลงสมัครรับเลือกตั้งในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับทหาร โดยเฉพาะทหารที่ไปรบในยูเครนภาคตะวันออก และประการที่สาม สังคมยูเครนดูเหมือนกำลังมุ่งไปสู่ความก้าวร้าวและสุดโต่งมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ “ท้าโยนลงถัง” (Trash Bucket Challenges) ซึ่งเป็นการรณรงค์จับนักการเมืองที่(ถูกกล่าวหาว่า)ทุจริตคอร์รัปชั่นโยนลงไปในถังขยะ ปรากฏการณ์นี้แพร่กระจายไปทั่วยูเครนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

              รัฐบาลผสม กับโจทย์ท้าทายหลังเลือกตั้ง

              จากผลการเลือกตั้งเบื้องต้น ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงน่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นระหว่างพรรคการเมืองนิยมตะวันตก ได้แก่ กลุ่ม Poroshenko(ซึ่งประกอบด้วยพรรค Solidarity และพรรค UDAR) กับพรรค People’s Party นำโดยนายกรัฐมนตรี Arseniy Yatsenyuk เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กบางพรรคเข้าร่วมรัฐบาลใหม่ โจทย์ของประธานาธิบดี Poroshenko คือ รัฐบาลผสมนั้นจะมีเสียงสนับสนุนในรัฐสภามากเพียงพอหรือไม่ในการช่วยสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ และแผนสันติภาพของประธานาธิบดี หลังการเลือกตั้งPoroshenkoและรัฐบาลผสมย่อมเผชิญหน้ากับโจทย์และความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในยูเครนภาคตะวันออก (ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,700 คนนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา) ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและหนี้สาธารณะ ข้อพิพาทเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติกับรัสเซีย (ซึ่งรัสเซียได้ตัดการส่งก๊าซให้แก่ยูเครนตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยอ้างว่ายูเครนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้) โจทย์ว่าด้วยกระบวนการประชาธิปไตยที่หลอมรวมทุกคนทุกเชื้อชาติศาสนาเข้ามา รวมทั้งประเด็นปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย สันติภาพหลังการเลือกตั้งรัฐสภายูเครนดูเหมือนจะไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบเท่าใดนัก

              เอกสารอ่านประกอบ

              - จิตติภัทร พูนขำ, "ยูเครนบนทางแพร่งความรุนแรง การเมืองภูมิภาคนิยม และการต่างประเทศกับมหาอำนาจ”, ประชาไท, 22 กุมภาพันธ์ 2557.
              - จิตติภัทร พูนขำ, “ปัญหายูเครนภาคตะวันออก: มุมมองของรัสเซีย”, ปกิณกะ.
              - จิตติภัทร พูนขำ, "การประท้วง Euromaidan: ยุโรป-รัสเซียในการเมืองยูเครน ยูเครนในการเมืองยุโรป-รัสเซีย”, รัฐศาสตร์สาร (อยู่ระหว่างการตีพิมพ์).

              ขอขอบคุณภาพประกอบบทความจาก:

              - http://www.dw.de/the-european-dream-has-faded-in-ukraine/a-16139068
              - http://www.bbc.com/news/world-29476740
              - http://www.bbc.com/news/world-europe-29782513

     

    คลังปกิณกะ


     

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีในลาตินอเมริกา (โดย อ.สิเรมอร อัศวพรหมธาดา)
  • แนะนำวันสันติภาพไทย (โดย อ.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ)
  • ปัญหายูเครนภาคตะวันออก: มุมมองของรัสเซีย (โดย อ.จิตติภัทร พูนขำ)