สิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์
 
แนะนำหนังสือน่าอ่าน “ประเด็น: การรวมกลุ่มทางภูมิภาค (Regionalism)”

25 พฤษภาคม 2563

แนะนำหนังสือน่าอ่าน

“ประเด็น: การรวมกลุ่มทางภูมิภาค (Regionalism)”

โดย ผศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์

(อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
 

หนังสือที่จะมาแนะนำในครั้งนี้จะเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับการรวมกลุ่มทางภูมิภาค (Regionalism) ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงประเด็นนี้ก็คงจะต้องมีชื่อองค์การอย่าง อาเซียน และสหภาพยุโรปขึ้นมาแน่นอน หลายคนเมื่อฟังชื่อแล้วอาจจะรู้สึกไม่ได้มีความตื่นเต้นเท่าไหร่ เพราะมีความคุ้นชินกับประเด็นอยู่พอสมควร 

ถึงแม้หนังสือทั้งสองเล่มที่จะมีการกล่าวถึงองค์กรที่เราคุ้นชินดังกล่าวก็ตาม แต่มีการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจซึ่งค่อนข้างจะให้แง่มุมที่แตกต่างออกไปจากที่เราคุ้นชินกัน เช่น ประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัฐและบทบาทองค์กรที่มีลักษณะเหนือรัฐ (Supranational Entity) หรือ ประเด็นผลกระทบของการดำเนินนโยบายขององค์การดังกล่าว เป็นต้น หนังสือที่จะแนะนำนี้ได้พยายามฉายให้เห็นมุมมองการพัฒนาที่ไม่ได้ทำโดยรัฐในฐานะตัวแสดงหลัก ซึ่งผลดังกล่าวส่งต่อไปยังการบูรณาการที่มีรูปแบบหลากหลายในระดับภูมิภาค





1) “Rethinking Regionalism” 

โดย Fredrik Soderbaum พิมพ์ในปี 2016


หนังสือที่นำเสนอเรื่องที่ควรจะรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค เช่น พัฒนาการ กรอบคิดทฤษฎี และการเปรียบเทียบการรวมกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องพื้นฐานทั่วไปที่หนังสือเล่มนี้พยายามนำเสนอเท่านั้น แต่ได้มีการฉายให้เห็นภาพรูปแบบหรือกระแสการบูรณาการทางภูมิภาคใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น บทบาทของภาคประชาสังคม (Civil Society) และการเชื่อมโยงข้ามภูมิภาค (Interregionalism) ซึ่งผู้เขียนได้ทำการขยายความ พร้อมทั้งใช้กรอบในการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้นเพื่อมาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าจุดที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอได้น่าสนใจเป็นเรื่องของความพยายามในการอธิบายการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคผ่านบทบาทที่ไม่ใช่รัฐเป็นตัวนำ และไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์แห่งชาติมาเป็นข้ออ้างในการรวมกลุ่มตามที่เราคุ้นชินเสมอไป


บทที่ 1-3 ของหนังสือเล่มนี้ จะเป็นการปูพื้นฐานการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งนำเสนอแก่นหลักของการโต้แย้งทางทฤษฎีที่หนังสือเล่มนี้จะได้ใช้ในการอธิบายการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคต่อไป โดยบทที่ 2 นำเสนอพัฒนาการการรวมกลุ่มที่แบ่งออกเป็นแบบเก่าและแบบใหม่ ซึ่งการแบ่งนี้ผู้เขียนไม่เพียงใช้บริบทที่แตกต่างกันตามช่วงเวลามาเป็นตัวกำหนดรูปแบบที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ยังใช้การเปลี่ยนแปลงของกรอบทฤษฎีมาช่วยในการจำแนกให้เห็นความแตกต่างของรูปแบบการรวมกลุ่มที่พัฒนาไปตามกาลเวลาอีกด้วย สำหรับบทที่ 3 นำเสนอกรอบทฤษฎีหลักๆ พร้อมทั้งการวิพากษ์ทฤษฎีที่ใช้ในการอธิบายการรวมกลุ่มไว้อย่างค่อนข้างจะครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Neo-Functionalism หรือ Intergovernmentalism ซึ่งทั้งสองทฤษฎีนี้เรียกได้ว่าเป็นแนวทางหลักที่ใช้อธิบายงานสายนี้เลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอกรอบทฤษฎีทางเลือกมาช่วยเติมเต็มการอธิบายปรากฏการณ์ที่ขาดหายไปจากทฤษฎีหลักข้างต้นด้วย

บทที่ 4-6 นั้น ผู้เขียนนำเสนอการเปรียบเทียบการรวมกลุ่มทางภูมิภาค โดยใช้องค์ประกอบที่แตกต่างหลากหลายมาเป็นกลไกในการชี้ให้เห็นความเหมือนและความแตกต่าง โดยบทที่ 4 เน้นการใช้กรอบทฤษฎีเป็นกลไกในการเปรียบเทียบ พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นความสำคัญในการเปรียบเทียบผ่านกรอบทฤษฎีทางเลือกที่นอกเหนือไปจากสองทฤษฎีหลักอย่าง Neo-Functionalism หรือ Intergovernmentalism ซึ่งถูกมองว่า ได้รับการพัฒนามาจากประสบการณ์ของสหภาพยุโรปจนทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้กรอบทฤษฎีนี้ไปอธิบายการรวมกลุ่มในภูมิภาคอื่นๆ สำหรับบทที่ 5 นั้น มีการนำเสนอการเปรียบเทียบผ่านกระบวนการที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งให้ทางเลือกมากกว่างานศึกษาส่วนใหญ่ที่มีอยู่ โดยงานศึกษาที่มีอยู่นั้นเน้นศึกษาการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคผ่านการวิเคราะห์โครงสร้างองค์การ และรูปแบบการตัดสินใจที่เป็นทางการเป็นหลัก ในขณะที่บทที่ 6 สะท้อนการเปรียบเทียบรูปแบบองค์กรผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงทั้งรัฐและไม่ใช่รัฐ

บทที่ 7-10 เป็นการนำเสนอมุมมองการรวมกลุ่มทางภูมิภาคผ่านประเด็นที่หลากหลาย ซึ่งผู้เขียนสะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆได้อย่างน่าสนใจ โดยบทที่ 7 ได้นำเสนอให้เห็นการรวมกลุ่มทางภูมิภาคว่าสามารถมาได้จากหลายปัจจัยไม่เฉพาะปัจจัยด้านผลประโยชน์เสมอไป แต่ยังรวมถึงความคิดและอัตลักษณ์ด้วย ในบทนี้จึงรวบรวมการรวมกลุ่มที่เกิดจากหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับบทที่ 8 การฉายภาพการรวมกลุ่มทางภูมิภาค โดยไม่ได้เกิดจากบทบาทของรัฐเป็นตัวนำ แต่เน้นที่บทบาทของภาคประชาสังคมเป็นหลัก บทที่ 9 นำเสนอบทบาทของตัวแสดงภายนอกภูมิภาคที่เข้ามามีส่วนที่อาจทำให้เป็นทั้งอุปสรรคและตัวเร่งในการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค โดยยกตัวอย่างบทบาทของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น บทที่ 10 นำเสนอการปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆที่ส่งผลซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยให้ความเป็นภูมิภาคนิยมมีความเข้มแข็งขึ้น

บทที่ 11-12 หลังจากพยายามฉายให้เห็นภาพรวมการรวมกลุ่ม การเปรียบเทียบ และการอธิบายการรวมกลุ่มในลักษณะใหม่ๆแล้ว สองบทสุดท้ายนั้น ผู้เขียนพยายามเชื่อมโยงไปสู่ระดับที่กว้างขึ้น นั่นคือระดับโลก พร้อมโยงเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ โดยในบทที่ 11 เป็นการนำเสนอปรากฎการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาค (Interregionalism) ซึ่งไม่ได้ยกเฉพาะกรณีศึกษาที่เกิดจากการรวมกลุ่มที่นำโดยรัฐเพียงอย่างเดียว และในบทที่ 12 นำเสนอบทบาทของภูมิภาคกับการจัดการปกครองโลก (Global Governance) ซึ่งพยายามให้เห็นปฏิสัมพันธ์ของตัวแสดงในสามระดับได้แก่ ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ในประเด็นความมั่นคง การค้า และสาธารณสุข 
  



2) “SMEs and Economic Integration in Southeast Asia”

โดย Cassey Lee, Dionisius Narjoko และSothea Oum พิมพ์ในปี 2019


หนังสือที่เผยแพร่บทความภายใต้โครงการวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่าง The Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) และ ISEAS- Yusof Ishak Institute โดยนำเสนอบทบาทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ที่เชื่อมโยงกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อาจกล่าวได้ว่าจุดที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอได้น่าสนใจเป็นเรื่องของการสำรวจ SMEs ที่แม้จะมีความสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างมากก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของ SMEs คิดเป็นร้อยละ 97-99 ของบริษัททั้งหมด และสัดส่วนการจ้างงานที่คิดเป็นร้อยละ 60 - 80 ของการจ้างงานทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับมีข้อสงสัยว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้ามากน้อยเพียงใด และช่วยส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่ทำโดยเอกชนมากน้อยเพียงใด

บทที่ 2-9 นำเสนอการเผยแพร่ผลสำรวจรายประเทศของ 8 ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยให้ภาพรวมลักษณะเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนา SMEs ในแต่ละประเทศ พร้อมทั้งเผยผลสำรวจการตระหนักรู้และระดับการใช้ประโยชน์ข้อตกลงที่เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าที่ผ่านมาข้อมูลทางสถิติเหล่านี้ค่อนข้างเข้าถึงได้ยากและกระจัดกระจาย จึงทำให้งานสำรวจชิ้นนี้มีความน่าสนใจในการพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษาต่อไป ในภาพรวมพบว่า การตระหนักรู้และการใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของ SMEs นั้นมีไม่มาก เนื่องจากการไม่เห็นความสำคัญของการขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาค พร้อมทั้งอุปสรรคทางการค้าที่แต่ละประเทศยังคงนำมาใช้ในทางปฏิบัติ

บทที่ 10-13 การนำเสนอความเชื่อมโยงระหว่าง SMEs และบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporation) เพื่อฉายให้เห็นการเกื้อกูลกันผ่านสายการผลิตและการค้า พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นนัยของผลกระทบที่มีต่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในเล่มนี้นำเสนอทุนจากเกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งโดยรวมพบว่า ทุนจากต่างชาติยังมีความท้าทายในการเกื้อกูลให้ SMEs ขยายการเชื่อมโยงสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก เนื่องจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ซับซ้อน จึงไม่เอื้อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า และนโยบายกีดกันที่แต่ละประเทศต้องการจะปกป้องอุตสาหกรรมภายในของตนเอง   


 


 

 
 
บทความอื่น ๆ ในหมวด
ทบทวนแนวโน้มสถานการณ์ความมั่นคงของโลก สิ่งที่ไทยควรตระหนักและเตรียมการรับมือ
สายรุ้งที่ฉันฝันหา: ขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall ที่แอฟริกาใต้
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ต่อผู้เลือกตั้งชนบท
Digital Transformation กับนวัตกรรมการจัดบริการสาธารณะ : บทเรียนจากเอสโตเนีย เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย
 

จำนวนคนอ่าน 1785 คน ยังไม่มีผู้โหวต
 
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอบทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
 


 
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555