สิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์
 
แนะนำหนังสือ (แนวปรัชญาการเมือง)

16 ธันวาคม 2562


แนะนำหนังสือ (แนวปรัชญาการเมือง)

โดย

อาจารย์ ดุลยภาพ จาตุรงคกุล

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

(1) Contexts of Justice



เสรีนิยมกับประชาธิปไตยมีลักษณะค่อนข้างกลมกลืนคล้ายกับเป็นเนื้อเดียวกัน โดยสังเกตได้จากการที่เรามักใช้คำว่า “เสรีประชาธิปไตย” แทนคำว่า “ประชาธิปไตย” โดยสมบูรณ์ แต่เมื่อแยกเสรีนิยมออกจากประชาธิปไตย กลับเห็นได้ชัดว่าสองคำนี้มีความหมายในตัวมันเอง และทั้งสองต่างไม่ลงรอยกันอยู่บ้าง

ในหนังสือ Contexts of Justice (1994/2002) เขียนโดย Rainer Forst (1964-) นักปรัชญาชาวเยอรมันรุ่นที่สามของสำนักแฟรงเฟิร์ต (Frankfurt School) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญาที่สำคัญที่สุดในรุ่นของเขา งานของเขาอธิบายใน 2 ประการ ประการแรก ความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) บนหลักการแบบประชาธิปไตยเองอาจขาดความสมเหตุสมผลสนับสนุน (justification) ในขณะที่เสรีนิยมอาจทำหน้าที่ให้ความสมเหตุสมผลสนับสนุนในส่วนนั้น และ ประการที่สอง ข้อพิพาทระหว่างชุมชนนิยม (communitarianism) กับปัจเจกนิยม (individualism) ถือกำเนิดมาจากการที่นักคิดสายชุมชนนิยม อย่าง Michael Sandel, Alisdair MacIntyre, Charles Taylor และ Michael Walzer มักอ้างความชอบธรรมทางการเมืองบนหลักการแบบประชาธิปไตย โดยละเว้นข้อสนับสนุนความสมเหตุสมผลแบบเสรีนิยม กล่าวคือ อัตวิสัยของคนในชุมชน ซึ่งหล่อหลอมโดยบริบททางสังคมที่เป็นรูปธรรม (concrete social context) ถูกมองว่าข้ามพ้นข้อเรียกร้องที่เป็นนามธรรมของสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับปัจเจก (abstract demands of basic individual rights) ในอีกทางหนึ่ง นักคิดสายปัจเจกนิยม อย่าง John Rawls, Ronald Dworkin และ Joseph Raz กลับให้ความสำคัญมากกว่ากับการสร้างความสมเหตุสมผลสนับสนุนแบบเสรีนิยม กล่าวคือ ข้อเรียกร้องที่เป็นนามธรรมของสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับปัจเจกนั้นมิจำเป็นต้องคำนึงถึงมิติของบริบทชุมชนมากนักก็ได้ ดังนั้น คุณูปการของหนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้มีเพียงการเสริมสร้างความเข้าใจต่อทฤษฎีเสรีนิยมกับประชาธิปไตย ปัจเจกนิยมกับชุมชนนิยม และความไม่ลงรอยระหว่างทั้งสองแนวคิด แต่มากกว่านั้น ยังเปิดเผยให้เห็นถึงขอบเขตของภาวะตรึงเครียดดังกล่าวที่ได้หยั่งรากลึกในความล้มเหลวที่จะประนีประนอมระหว่าง “มโนทัศน์ของสิ่งที่ดี” (notions of the good) ซึ่งคำนึงถึงบริบท และ “มโนทัศน์ของความถูกต้องที่เป็นสากล” (notions of universal validity) ซึ่งเพิกเฉยต่อบริบท กล่าวได้ว่า นักรัฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องเสรีนิยมกับประชาธิปไตยควรกลับมาตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า “สิ่งที่ดี” คืออะไร? สะท้อนชุดคุณค่าอะไรบ้าง? และต่างจาก “ความถูกต้อง” ที่อ้างความเป็นสากลหรือไม่อย่างไร? ขณะที่ผู้สนใจปรัชญาศีลธรรมอยู่ก่อนแล้วอาจเห็นความสำคัญของการศึกษาเสรีนิยมกับประชาธิปไตยอย่างจริงจังเพื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความไม่ลงรอยระหว่างสิ่งที่ดีๆร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งอาจสะท้อนอัตวิสัยของผู้คนในแต่ละบริบทสังคม วัฒนธรรม หรือศาสนา กับความถูกต้องที่เป็นสากล ซึ่งอาจแสดงคุณสมบัติที่อยู่นอกเหนือคนหรือชุมชน

เมื่อถามว่า “อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องที่เราควรทำ?” เราอาจไม่ตระหนักถึงนัยที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของการกระทำเพื่อความถูกต้องนั้น ดังนั้น เราจะสร้างความสมเหตุสมผลสนับสนุนต่อกฎหมายซึ่งดีสำหรับเราแก่ผู้อื่นที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายเดียวกัน แต่อาจมิได้มีเหตุผลเท่ากับเราที่จะยอมรับกฎหมายนั้นอย่างไร? Forst เชื่อว่าการกล่าวอ้างความถูกต้องของปทัสถานในทางกฎหมายและศีลธรรม (validity claims of moral-legal norms) นั้นต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการสร้างความสมเหตุสมผลสนับสนุนที่ผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียสามารถเข้าใจและเห็นคล้อยตามด้วยได้ (intersubjective justification) หรือขยายความกว่านั้นคือ ความถูกต้องชอบธรรมที่เป็นสากลของปทัสถานนั้น สามารถสร้างขึ้นได้หากประกอบด้วย (1) การจำแนกบริบทต่างๆของการสร้างความสมเหตุสมผลสนับสนุนต่อปทัสถาน (justification contexts) ออกจากกันอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นบริบททางชุมชน (communal context) ซึ่งสมาชิกล้วนเชิดชูหรือยึดโยงด้วยสิ่งที่ดี/วิถีชีวิต (ethics/ethos) เดียวกัน บริบททางกฎหมายและการเมือง (legal-political context) ซึ่งผู้เกี่ยวข้องล้วนถูกกฎหมายบังคับใช้เหมือนกัน หรือบริบททางศีลธรรม (moral context) ในฐานะบริบทสากลของมนุษยชาติ และ (2) การกล่าวอ้างถึงหลักการให้ความสมเหตุสมผลที่มีคุณลักษณะของ “ความทั่วไป” (generality) และ “การต่างตอบแทนกันและกัน” (reciprocity) โดยที่ “ต้องการเพียงแค่ให้บริบทเหล่านี้ได้รับการยอมรับร่วมกันและเปิดกว้างต่อการกล่าวอ้างถึงความถูกต้องของผู้มีวิจารณญาณ (moral persons) บนฐานของประสบการณ์เชิงลบ”



(2) Liberalism as Ideology: Essays in Honour of Michael Freeden



เคยสงสัยหรือไม่ว่า ลัทธิที่เรียกว่า "เสรีนิยม" สามารถจำแนกออกเป็นกี่ “แบบ” หรือ “ชุดภาษา”? “เสรีนิยม” นั้นจำเป็นต้องถูกเข้าใจอย่างหยุดนิ่งตายตัวหรือไม่? หรือกล่าวอีกทางหนึ่งคือ ตัวเราในฐานะบุคคลทั่วไปสามารถมีส่วนในการกำหนดความหมายและคุณค่าของสิ่งที่เราเข้าใจว่าคือเสรีนิยมหรือไม่? “เสรีนิยม” เป็น “อุดมการณ์” (ideology) ซึ่งสะท้อนปฏิบัติการของชุดความคิดในสังคมต่างๆ หรือเป็น “ปรัชญา/ทฤษฎี” (philosophy/theory) ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดยนักปรัชญา (จากทั้งอดีตและปัจจุบัน ในประเทศหรือข้ามประเทศ) มากกว่ากัน? เสรีนิยมสามารถเป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันได้หรือไม่ และอะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองกับปรัชญา/ทฤษฎีการเมือง?

หนังสือ Liberalism as Ideology: Essays in Honour of Michael Freeden (2012) ที่มี Ben Jackson และ Marc Stears เป็นบรรณาธิการ ได้รวบรวมงานเขียนของกลุ่มลูกศิษย์และกัลยาณมิตรทางวิชาการของ Michael Freeden (รวมถึงตัว Freeden เอง) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อุดมการณ์ทางการเมือง (Centre for Political Ideologies) ณ คณะการเมืองและการระหว่างประเทศ (DPIR) มหาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยตลอดระยะเวลา 40 ปีของการเป็นอาจารย์นั้น Freeden ได้สร้างคุณูปการอย่างมหาศาลต่อทั้งการศึกษาลัทธิเสรีนิยม และธรรมชาติของความคิดทางการเมืองทั่วไป อีกทั้งงานที่ Freeden ผลิตยังเป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา และนักปรัชญา หนังสือเล่มนี้จึงนับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนสนทนาระหว่าง Freeden กับบรรดาลูกศิษย์และกัลยาณมิตรของเขา และเป็นการต่อยอดจากการศึกษาเดิมที่ Freeden ได้ทำไว้แล้วอย่างเป็นแบบแผน โดยแบ่งออกเป็นสองหัวข้อหลักๆ ได้แก่ (1) “ชุดภาษาของเสรีนิยม” (Liberal Languages) และ (2) “อุดมการณ์กับทฤษฎีการเมือง” (Ideologies and Political Theory)

หัวข้อแรก เป็นการกล่าวถึงเสรีนิยม ทั้งในรูปของอดีตและปัจจุบัน ทั้งแบบซ้ายและไม่ซ้าย แบบตะวันตกและไม่ตะวันตก ตลอดจนแบบรายประเทศหรือภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือประเทศอินเดีย ซึ่งการศึกษาเสรีนิยมในรายกรณี อาจช่วยทำให้เราเข้าถึงแก่นสารของเสรีนิยมได้ดียิ่งขึ้น ถึงที่สุด แก่นสารนั้นได้สะท้อน การเป็นปฏิบัติการของชุดความคิดที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่หรือบริบทสังคม มากกว่าการเป็นหลักปรัชญาที่สากล ทั้งนี้คำถามที่ตามมาสำหรับผู้อ่านชาวไทยคือ เคยมีการศึกษาเสรีนิยมในไทยแบบที่หนังสือเล่มนี้ทำเป็นตัวอย่างหรือไม่?

ส่วนในหัวข้อถัดมา จะเป็นการอภิปรายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง อุดมการณ์ กับปรัชญา/ทฤษฎีการเมือง อย่างจริงจัง โดยมีข้อเสนอจากหลากหลายทรรศนะ อาทิ บางทรรศนะอาจเสนอว่า ถ้าสามารถแยกความเป็นอุดมการณ์ ซึ่งสะท้อน “ความคิด-พฤติกรรมโดยปกติของมนุษย์” (ordinary human thought-behaviour) ออกจากความเป็นระบบปรัชญาการเมืองที่ต้องการเชิดชูเสรีนิยมเป็นปทัสถานสากลสำหรับมวลมนุษยชาติ จะเห็นได้ชัดว่าในความเป็นจริงแล้ว เสรีนิยมนั้นแสดงตัวในรูปแบบของอุดมการณ์มากกว่าปรัชญาการเมืองด้วยซ้ำ ซึ่งผลก็คือ ปทัสถานของสังคมไม่สามารถและไม่ควรถูกก่อร่างขึ้นโดยสมบูรณ์จากภายนอกปริมณฑลของอุดมการณ์ ส่วนในทางตรงกันข้าม อาจมีทรรศนะอื่นโต้กลับว่า การทำเช่นนั้นเลี่ยงได้ยากที่จะเป็น “การออกความเห็นโต้แย้งเชิงปทัสถาน" (normative disputation) ซึ่งในตัวมันเองไม่จำกัดอยู่แค่การทำความเข้าใจการทำงานของอุดมการณ์ทางการเมืองอุดมการณ์หนึ่ง แต่เป็นการอาศัยแง่มุมทางปรัชญาเพื่อสร้างความสมเหตุสมผลสนับสนุน (justification) ต่อปทัสถานอีกด้วย



(3) อัสดงคตมายา ภาพลวงตาของโลกตะวันตกต่อธรรมชาติมนุษย์


 

สำหรับแวดวงวิชาการสายมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ของโลกแล้ว ชื่อของ Marshall Sahlins (1931-) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อวงการอย่างมาก งานชิ้นสำคัญอย่าง Stone Age Economics (1972) ของ Sahlins ได้เสนอข้อโต้แย้งที่ท้าทายองค์ความรู้ที่เรียกว่า “มานุษยวิทยาวัฒนธรรม” ซึ่งรัฐเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ หรือก็คือ การมองปัญหาเชิงอัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้กรอบของความทั่วไปของรัฐ อย่างไรก็ตาม Sahlins กลับได้รับความนิยมชื่นชอบจากข้างนอกสหรัฐอเมริกามากกว่าในสหรัฐอเมริกาเอง (รวมถึงประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากโลกวิชาการอเมริกัน อย่างไทย) เนื่องจากวงการมานุษยวิทยาอเมริกันยังสมาทานจารีตแบบ “มานุษยวิทยาวัฒนธรรม” อย่างกว้างขวาง

หนังสือ อัสดงคตมายา: ภาพลวงตาของโลกตะวันตกต่อธรรมชาติมนุษย์ (2019) คืองานที่ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ แปลจากต้นฉบับของ Sahlins ซึ่งมีชื่อว่า The Western Illusion of Human Nature: With Reflections on the Long History of Hierarchy, Equality, and the Sublimation of Anarchy in the West, and Comparative Notes on Other Conceptions of the Human Condition (2008) หนังสือเล่มนี้อาจมองได้ว่าเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดจากรากฐานทางความคิดเดิมที่ Stone Age Economics (1972) พยายามวางไว้ให้แล้ว อธิบายอย่างรวบรัดคือ เป็นการเข้า “ปะทะโต้แย้งโดยตรงต่อรากฐานของวิชาปรัชญาและทฤษฎีการเมืองที่มองว่ามนุษย์ในสภาวะดั้งเดิมหรือ ‘สภาวะธรรมชาติ’ นั้นอดอยาก ขาดแคลนและเต็มไปด้วยการฆ่าและสงคราม” ซึ่งหากโต้แย้งได้สำเร็จ จะนำไปสู่ทั้งการลดทอนความสำคัญของการศึกษาปรัชญาตะวันตกในจารีตแบบเดิม และเป็นการเพิ่มบทบาทความสำคัญของ “การกลับไปหาประเด็นทางภววิทยา” (Ontological Turn) ในวงการมานุษยวิทยาที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การสะกดจิตหมู่ของ “อัสดงคตมายา” อีกต่อไป ซึ่งตรงข้ามกับ “การหันเหสู่กระแสวัฒนธรรม” (Cultural Turn) ที่ไม่เคยตั้งคำถามอย่างจริงจังกับความจำเป็นของรัฐและการใช้อำนาจของรัฐ Ontological Turn ในมุมของ Sahlins จึงถือว่าเป็น “ต้นธารสำคัญของจารีตของมานุษยวิทยาที่ปฏิเสธรัฐหรืออยู่ในจารีตแบบอนาธิปัตย์มากกว่า”

หนังสือเล่มนี้ได้ทำการย่นย่อ “อารยธรรมตะวันตก” ให้สามารถอ่านจบด้วยเวลาเพียง 3 ชั่วโมง โดยเป็นการเริ่มไล่เรียงตั้งแต่ นักคิดยุคกรีกโบราณ (โดยเฉพาะ Thucydides) และความคิดว่าด้วยการแบ่งแยกระหว่าง physis (ธรรมชาติ) และ nomos (ระเบียบประเพณี) จนถึง Saint Augustine, Machiavelli, พวก Federalists (โดยเฉพาะ John Adams) ตลอดจนพวกนักชีววิทยาสังคม (social biologist) ในยุคปัจจุบันที่เชื่อเรื่อง “พันธุกรรมที่เห็นแก่ตัว” (selfish gene) และสมาทานแนวความคิดแบบอัตตานิยมวิวัฒนาการ (Evolutionary Egoism) เป็นเหตุให้ Sahlins ขยายความเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดนี้เป็น “พวกนิยมฮอบส์” (Hobbesian) ในแง่นี้ ทรรศนะว่าด้วยธรรมชาติที่เลวทราม (ไม่มากก็น้อย) ของปัจเจกชน ซึ่ง Hobbes เป็นนักคิดที่อธิบายอย่างเป็นระบบที่สุด และก่อให้เกิดการผลิตซ้ำเรื่อยมาทวีภาวะระหว่าง ธรรมชาติ กับวัฒนธรรม ที่ภาวะแบบหลังนี้ต้องสอดรับกับภาวะแบบแรก เป็นแกนกลางที่ร้อยเรียงต่างความคิดเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความคิดแบบนิยมกษัตริย์ หรือระบอบสาธารณรัฐที่เป็นประชาธิปไตย

กล่าวอย่างสรุปความ หนังสือเล่มนี้เป็นการเขียนเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง โดยนักมานุษยวิทยา เพื่อแสดงให้เห็นว่าปรัชญาการเมืองทั้งปวงที่ถูกกล่าวถึงในงานนั้นมีความเป็นมายาคติอย่างไร โดย Sahlins ได้ทำให้เห็นอีกว่า มนุษย์สภาวะแบบไม่เป็นตะวันตกมีหน้าตาอย่างไร ผ่านตัวอย่างประกอบของชนเผ่าในโอเชียเนีย และหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นต้น เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดของธรรมชาติมนุษย์ อย่างน้อยที่สุด หนังสือเล่มนี้จึงช่วยกระตุ้นให้นักรัฐศาสตร์กับนักปรัชญาการเมืองเกิดการตั้งคำถามกับแขนงวิชาของตัวเองว่า อะไรคือขอบเขตที่แท้จริงของ “จารีตปรัชญาการเมืองแบบตะวันตก”? แล้วมีคติของธรรมชาติมนุษย์ในจารีตแบบตะวันตกที่ก้าวพ้นกรอบความคิดแบบ Hobbesian หรือไม่? เป็นต้น

 
 
บทความอื่น ๆ ในหมวด
ทบทวนแนวโน้มสถานการณ์ความมั่นคงของโลก สิ่งที่ไทยควรตระหนักและเตรียมการรับมือ
สายรุ้งที่ฉันฝันหา: ขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall ที่แอฟริกาใต้
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ต่อผู้เลือกตั้งชนบท
Digital Transformation กับนวัตกรรมการจัดบริการสาธารณะ : บทเรียนจากเอสโตเนีย เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย
 

จำนวนคนอ่าน 3523 คน จำนวนคนโหวต 4 คน
 
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอบทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
 


 
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555