Direk 's talk Direk 's talk
 
"การวิจัย คืออะไร?"

โดย นิรินธร มีทรัพย์นิคม 7 พฤศจิกายน 2557

การวิจัยเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน ซึ่งในชีวิตประจำวันของเรานั้น เรามักมีคำถามที่ต้องการค้นหาคำตอบเสมอ เช่น หากต้องการซื้อโทรศัพท์มือถือ อาจมีคำถามว่าต้องการซื้อรุ่นไหน ยี่ห้อใด ราคาเท่าไหร่ เหมาะกับคุณภาพหรือไม่ เป็นต้น เพื่อที่จะตอบข้อสงสัย เรามักค้นหาในอินเตอร์เนต ถามเพื่อนที่ใช้ ถามคนขาย ลองผิด ลองถูก และอื่นๆ เช่นเดียวกันกับ “การวิจัย” (Research) ซึ่งหมายถึง ความพยายามที่จะเดินจากคำถามไปสู่คำตอบ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกระบวนการของการค้นหาความรู้ใหม่ทั้งหมด คือ การทำวิจัยจะต้องมีการค้นคว้าอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ - Re หมายถึง อีกครั้งหนึ่ง search หมายถึง การค้นคว้า ดังนั้น Research หมายถึง การกลับไปค้นหาอีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเหตุการณ์เปลี่ยน จึงต้องกลับไปค้นหาข้อมูลอีกครั้งเพื่อค้นหาความจริง เพราะฉะนั้น ความรู้จึงพัฒนาได้ตลอดเวลา**

            โดยทั่วไปนั้น กระบวนการของการทำวิจัยมีขั้นตอน ดังนี้


  •  การกำหนดเรื่องที่เราต้องการทำ

  •  การสืบค้นเอกสารที่เกี่ยวข้องจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ 

  •  การกำหนดวัตถุประสงค์การศึกษา 

  •  การตั้งสมมติฐาน (คำตอบที่เราคาดเดาไว้ล่วงหน้า) 

  •  การออกแบบงานวิจัย และ 

  •  การวิเคราะห์สรุปผลข้อมูล



            สำหรับนักวิจัยอาชีพนั้น แน่นอนว่า ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก การจะเลือกทำวิจัยเรื่องอะไรนั้นก็ควรจะต้องคิดให้รอบด้าน นักวิจัยต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะทำเพราะการทำวิจัยนั้นมีต้นทุน ซึ่งหากผู้วิจัยขอทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว เงินทุนทำวิจัยก็คือภาษีของประชาชนนั่นเอง ดังนั้น หน้าที่สำคัญของนักวิจัยอาชีพก็คือ นอกจากทำเรื่องที่ตนมีความรู้ความสามารถแล้ว ควรเลือกเรื่องที่ตอบสนองความต้องการรู้ของประชาชน สามารถได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้

            สำหรับท่านผู้อ่านที่แม้ไม่ได้มีอาชีพทำวิจัย ก็สามารถที่จะนำวิธีข้างต้นไปประยุกต์ใช้กับการทำงาน หรือในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกันนะคะ เพราะในชีวิตของเรานั้นมีเรื่องที่เราอยากจะรู้เยอะแยะมากมาย การวิจัยจะช่วยให้เราค้นหาคำตอบได้อย่างเป็นระบบ ไม่สะเปะสะปะหรือไร้สาระ ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อเราต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ป้องกันไม่ให้เราตัดสินใจผิดพลาดซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้ชีวิตได้

**ขอขอบคุณท่านอาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ ที่ได้บรรยายเรื่อง “การทำวิจัยเชิงสถาบัน” แก่บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 อย่างสนุกสนาน เป็นกันเอง และเข้าใจง่าย ทำให้ผู้เขียนเข้าใจมากขึ้นว่าแท้จริงแล้ว การทำวิจัยนี่อยู่ใกล้ตัวเรานี่เอง

 
 
บทความอื่น ๆ ในหมวด
"ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ"
"Reimaging Thailand: ฟื้นฟู ปูฐาน ทะยานเดิน"
งานวิจัย “ข้ามชาติ” กับ งานวิจัยเชิง “บูรณาการ”
“การวิจัย: จากการแสวงหาองค์ความรู้ สู่การใช้ประโยชน์”
“รู้จักศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม”
 

จำนวนคนอ่าน 8969 คน จำนวนคนโหวต 4 คน
 
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอบทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
 


 
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555