Direk 's talk Direk 's talk
 
"Reimaging Thailand: ฟื้นฟู ปูฐาน ทะยานเดิน"

โดย นิรินธร มีทรัพย์นิคม 23 ธันวาคม 2557

ท่ามกลางกระแสฟุตบอลไทยฟีเวอร์ในขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่า นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทยชุดนี้ ที่มีทักษะการเล่นฟุตบอลรวมทั้งกิริยามารยาทในสนามที่ได้รับคำชมจากแฟนฟุตบอลทั้งชาวไทยและหลายประเทศในอาเซียน ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยด้านความสามารถในกีฬาฟุตบอลและวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามได้รับการกล่าวถึงในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น

ศูนย์วิจัย ดิเรกฯ ไม่ได้กำลังเชิญชวนทุกท่านมาทำวิจัยเรื่องฟุตบอลนะคะ แต่สิ่งที่กำลังจะพูดถึงใน Direk’s Talk ฉบับนี้ เป็นเรื่องของ "การฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทย" (Reimaging Thailand) หลายปีที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง การเมืองไร้เสถียรภาพ ทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาอาชญากรรม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ แน่นอนว่าทำให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีปัญหา ส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ที่ดีงามของประเทศไทย

คณะรัฐศาสตร์ นำโดยท่านอาจารย์ ดร.มล.พินิจพันธุ์ บริพัตร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดงานปาฐกถาเรื่อง "Reimaging Thailand: ฟื้นฟู ปูฐาน ทะยานเดิน" ขื้นมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่น ถ.ราชดำริ กรุงเทพฯ โดยงานนี้ไม่เพียงเป็นการจัดงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนดังที่เราได้จัดกันเป็นประจำเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองทางวิชาการ เนื่องในโอกาสที่คณะรัฐศาสตร์ครบรอบการสถาปนามาถึง 65 ปีในปี 2557 อีกด้วย

ในงานนี้ คณะฯได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอกมาร่วมแสดงปาฐกถา ได้แก่ รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA) มาแสดงปาฐกถาเรื่องการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทยในมิติ "สังคม-วัฒนธรรม" ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาแสดงปาฐกถาเรื่องการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทยในมิติ "เศรษฐกิจ" และคุณรัศม์ ชาลีจันทร์ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มาแสดงปาฐกถาเรื่องการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทยในมิติ "การต่างประเทศ"

ผู้เขียนได้ไปร่วมงาน เห็นว่าหัวข้อการปาฐกถานี้มีความเกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน รวมทั้งนักวิจัย นักเรียน นักศึกษา ยังสามารถนำประเด็นต่างๆเหล่านี้ ไปศึกษาวิจัยต่อได้ จึงได้นำเนื้อหางานสัมมนามาเล่าสู่กันฟัง และเนื้อหาการปาฐกาจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญติดตามอ่านดังด้านล่างได้เลยค่ะ
 
มิติ "สังคม-วัฒนธรรม"

รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ กล่าวถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยมิติ "สังคม-วัฒนธรรม" ในสายตาชาวต่างชาติว่า เรามีดีหลายประการ เช่น ธรรมชาติสวยงาม วัฒนธรรมที่ดี อาหารอร่อย คนไทยมีจิตใจให้บริการ (Service mind) มีไมตรีจิตต้อนรับชาวต่างประเทศ เมื่อถามถึงคุณค่าที่ดีของสังคมไทย มักได้รับคำตอบในแง่คนไทยมีความกตัญญูู ความเอื้ออาทร มีน้ำใจ เดินสายกลาง เคารพสิทธิกันและกัน ครอบครัวเข้มแข็ง สังคมไทยมี Sense of Freedom ต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมักถูกชาวต่างชาติมองในแง่ลบ เช่น ในเรื่องสิทธิสตรี ประเทศไทย มีการท่องเที่ยวทางเพศ (Sex tourism) ซึ่งต่างชาติมองว่าประเทศไทยใช้เรือนร่างผู้หญิงเพื่อหารายได้เข้าประเทศ

ในการแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์เชิงลบของประเทศไทยนั้น ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณี ไม่ควรนำเสนอให้ดูโบราณครำครึอย่างเดียว แต่ควรผสมผสานวัฒนธรรมประเพณีทั้งแบบเก่าและใหม่ นอกจากนี้ การโฆษณาส่งเสริมภาพลักษณ์ควรสอดแทรกเนื้อหาความรู้ทางวิชาการ และควรสอดคล้องกับความเป็นจริง การศึกษาไทยนั้น ต้องปรับวิธีการเรียนการสอนให้นักเรียน นักศึกษาคิดเป็น สามารถแยกแยะวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลได้ ตั้งอยู่บนหลักเหตุผล คุณธรรมที่ถูกต้อง ในการเรียนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสำคัญของอาเซียน ต้องไม่ใช่สอนแค่เรื่องไวยากรณ์เท่านั้น แต่ต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ และกล้าที่จะพูดในสถานการณ์ต่างๆ

ปัจจุบัน รศ.ดร.จุรี ได้ดำเนินงานโครงการ หลักสูตร “โตไปไม่โกง” ซึ่งได้เน้นการส่งเสริมคุณค่าที่ดีต่างๆให้กับเด็กนักเรียน ได้แก่ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริต การมีจิตสาธารณะ ความเป็นธรรม ความพอเพียง หากชาวต่างประเทศจะยังคงประเทศไทยในทางที่ไม่ดี เราคงต้องปล่อยเค้าไป สิ่งที่เราควรทำคือ ใช้โอกาสช่วงการเมืองเปลี่ยนผ่านในการปฏิรูปประเทศเราในทุกๆด้าน ในไม่ช้า เมื่อภายในประเทศเราแข็งแกร่งก็จะทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยดีขึ้น

มิติ "เศรษฐกิจ"

ในมิติ "เศรษฐกิจ" ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจที่ดี มีเสถียรภาพภายในประเทศทั้งด้านการเงิน-การคลังดีมาก ซึ่งดูได้จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จำนวนหนี้สาธารณะ ที่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap Country) กล่าวคือ ปัจจุบัน คนไทยมีรายได้ประมาณ 5,500 ดอลล่าร์สหรัฐ/คน/ปี แต่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) นั้น ต้องมีรายได้อย่างน้อย 15,700 ดอลล่าร์สหรัฐ/คน/ปี ซึ่งประเทศไทยยังคงต้องใช้ความพยายามในการสร้างความเจริญเติบโตอีกมาก

และเพื่อที่จะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางนั้น ประเทศไทยควรจะต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิตสินค้า ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่สามารถสร้างผลิตผลต่อพื้นที่ได้มากกว่าเดิม ซึ่งประเด็นนี้เรียกว่า “เศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย” ในขณะเดียวกัน ก็ควรส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมมาเป็นองค์ประกอบในการทำธุรกิจ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่าการดำเนินกิจกรรมทาง “เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์”

นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือ ต้องเพิ่มการส่งออกสินค้าให้มากขึ้น โดยต้องหาประเทศที่มีศักยภาพที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งหากดำเนินงานตามแนวทางนี้ ก็จะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทาง “เศรษฐกิจเน้นการส่งออกที่หลากหลาย”

ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องการส่งออกการให้บริการ การส่งเสริมการท่องเที่ยวก็เป็นช่องทางสำคัญที่นำรายได้เข้าประเทศ ประเทศไทยควรเน้นส่งเสริมภาพลักษณ์ด้าน “การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ” ผ่านการจัดประชุม/สัมมนา การจัดนิทรรศการระหว่างประเทศ ต่างๆ การส่งเสริม “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” (Medical Tourism) ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทยมีมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพในระดับสากล

เรื่องของ “Digital” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราต้องดำเนินการก็คือ
1) ในเรื่อง Hardware - ประเทศไทยควรต้องทำโครงสร้างพื้นฐาน Broadband 3G, 4G ให้มีพื้นฐานรองรับที่ดีเพียงพอในการทำธุรกรรมทางธุรกิจที่ใช้ Digital ทั้งหลาย และ
2) ในเรื่อง Software - ประเทศไทยควรต้องมีโครงการต่างๆรองรับ เพื่อให้ Hardware ได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งต้องเพิ่มทักษะของบุคคลให้มีความสามารถในการใช้ Digital ให้มากขึ้นด้วย

หากประเทศไทยสามารถทำได้ดังนี้ ก็จะทำให้ประเทศไทย มีภาพลักษณ์ระบบเศรษฐกิจแบบ “เศรษฐกิจดิจิตอล" (Digital Economy) และหากประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ทั้งหมดข้างต้น ก็จะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน ผู้ประกอบธุรกิจจากต่างประเทศก็จะมองเห็นลู่ทางที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็น ”ประเทศที่มีรายได้สูง” และการเป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ดีที่ตอบโจทย์ภาพลักษณ์ทั้งหมด

มิติ “การระหว่างประเทศ”
ในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศในมิติ “การระหว่างประเทศ” นั้น คุณรัศม์ ชาลีจันทร์ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ที่มีหน้าที่หลักในการทำหน้าที่ด้านส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อประชาชนในประเทศและต่อชาวต่างประเทศว่า ที่ผ่านมากต.ได้ดำเนินการทั้งในเชิงรุก และเชิงรับ โดยในเชิงรุกนั้น กต.ได้เน้นการดำเนินการด้านการทูตเชิงวัฒนธรรม และการทูตเชิงสาธารณะ เน้นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศโดยการใช้จุดเด่นด้านวัฒนธรรมประเพณี อาหาร การจัดเทศกาลภาพยนตร์ไทยการท่องเที่ยว การจัดโครงการร่วมมือการสื่อมวลชนต่างประเทศ เช่น กับ CNN, Time Magazine เป็นต้น

แม้ประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์โดยรวมที่ดี อย่างไรก็ตาม ในสายตาชาวต่างประเทศไทยยังคงถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาทั้งด้านการเมือง การท่องเที่ยว การค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมากต.ได้ทำหน้าที่ชี้แจง ในการแก้ไขปัญหาต่างเหล่านั้น เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันคิดและตกผลึกให้ได้เกี่ยวกับภาพลักษณ์ประเทศไทยว่าเราเป็นใคร (Self-Image) โดยที่ไม่ปฏิเสธตนเอง (Self-Denial) หรือหลอกตนเอง (Self-Deception) ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศให้เป็นอย่างไร โดยสอดคล้องกับความเป็นจริงในสิ่งที่เราเป็น ที่สำคัญการเรียกร้องให้ประชาคมโลกเข้าใจประเทศเราแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องเข้าใจสิ่งที่ประชาคมโลกคิดด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการดำเนินการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย

สิ่งที่องค์ปาฐกทั้ง 3 ท่านได้แสดงทัศนะไว้ข้างต้น เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์และสามารถที่จะช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทยได้ดีเป็นอย่างยิ่งเลยนะคะ ซึ่งทำให้ผู้เขียนคิดว่า ปัญหาต่างๆทั้งหลายกลับกลายเป็นจุดดีดั่งตัวเร่งปฏิกิริยาให้ทุกภาคส่วนหันมาร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งภายใต้การดำเนินงาน Reimaging Thailand นั้น เกี่ยวข้องกับอีกคำว่า re- อีกหลายๆคำ เช่น

Rethinking/Reassesing - การคิดใหม่/ประเมินใหม่ว่าเรื่องอะไรที่เราทำพลาดในอดีต เราจะแก้ไขให้ถูกต้องได้อย่างไร
Reforming - การปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆด้าน
Restructuring - การปรับโครงสร้างประเทศ
Reinventing/Redesigning - การสร้างสรรค์/การออกแบบประเทศไทยใหม่ อยากให้อนาคตประเทศเป็นอย่างไร
Reengaging with the World - การข้องเกี่ยวกับประชาคมโลกใหม่อีกครั้ง
Redefining Thailand’s Foreign Relations - การกำหนดนิยามบทบาทการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศใหม่อีกรั้ง

ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราชาวไทยทุกคน ทุกองค์กรต้องช่วยกัน เพราะการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากประเทศเราไม่แก้ไขปัญหา/ปรับปรุงประเทศให้ดีขึ้นก่อน ส่วนในระดับบุคคล เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการปฏิรูปตัวเราเอง พัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ สามารถที่จะทำงานได้หลากหลาย (Multi-Task Skills) ทันโลก ทันเหตุการณ์ รู้จักสร้างจุดแข็งของตัวเราเองที่พิเศษแตกต่าง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศ (Foreign Language Capabilities) หากเราทุกคนสามารถทำได้ดังนี้ คนไทยก็จะมีภาพลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์ที่มีความแข็งแกร่ง (Strong Worth Ethnics) และเมื่อพวกเราทำได้ความฝันที่พวกเราอยากเห็นประเทศไทยได้รับฟื้นฟู ปูฐาน ทะยานเดิน คงจะไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะคะ

พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ

 
 
บทความอื่น ๆ ในหมวด
"ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ"
งานวิจัย “ข้ามชาติ” กับ งานวิจัยเชิง “บูรณาการ”
“การวิจัย: จากการแสวงหาองค์ความรู้ สู่การใช้ประโยชน์”
"การวิจัย คืออะไร?"
“รู้จักศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม”
 

จำนวนคนอ่าน 2332 คน จำนวนคนโหวต 1 คน
 
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอบทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
 


 
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555