Direk 's talk Direk 's talk
 
งานวิจัย “ข้ามชาติ” กับ งานวิจัยเชิง “บูรณาการ”

โดย นิรินธร มีทรัพย์นิคม 7 พฤศจิกายน 2557

ในปัจจุบันนี้ ในวงการวิจัยกำลังพูดถึงการทำงานวิจัยในลักษณะ “ข้ามชาติ” และ “บูรณาการ” กันมากขึ้น องค์กรที่ให้ทุนวิจัยต่างๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือแม้แต่คณะรัฐศาสตร์ เองก็ได้พิจารณาลักษณะงานวิจัย “ข้ามชาติ” และการ “บูรณาการ” เป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาให้ทุนทำวิจัยเช่นเดียวกัน

         งานวิจัยข้ามชาติ และงานวิจัยเชิงบูรณาการมีลักษณะเป็นเช่นไร ทำไมต้องข้ามชาติและบูรณาการ? Direk’s Talk ฉบับนี้ ได้ไปเกาะติดงานสัมมนา 2 งาน ได้แก่ “รู้เขา รู้เรา ผ่านการวิจัยข้ามชาติ” และ “มองในมุมที่ต่าง: ตัวอย่างงานวิจัยเชิงบูรณาการความรู้ข้ามสาขาวิชา” จัดโดยฝ่ายวิจัย มธ. ณ ห้องประชุมสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ.รังสิต เมื่อวันที่ 12 ก.ย.57 ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

         การทำงานวิจัย“ข้ามชาติ”นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันประเทศต่างๆในสังคมโลกมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ทั้งในระดับระหว่างรัฐและระหว่างปัจเจกชน ซึ่งมีทั้งลักษณะความร่วมมือ ความขัดแย้ง ประเด็นปัญหาร่วมกัน ปัญหาของประเทศหนึ่งอาจแพร่กระจายไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ ในภาควิชาการซึ่งได้มุ่งเน้นการทำวิจัยทั้งเพื่อการสร้างองค์ความรู้ การตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสังคมและการพัฒนาประเทศนั้น ได้เห็นความสำคัญของการทำวิจัยในลักษณะข้ามชาติ ซึ่งหมายถึง การทำงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 2 ประเทศเป็นต้นไป ดังนั้น นักวิจัยควรมีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อช่วยกันเก็บข้อมูลโดยอาจเป็นชาติเดียวกันหรือคนละชาติ ที่มีโจทย์ที่ต้องการศึกษาร่วมกัน ที่สำคัญ และในการวิเคราะห์ผลการวิจัยข้ามชาติที่ดีควรมีการเชื่อมโยงความรู้กับทุกระดับด้วย เช่น หากการศึกษานั้นเน้นการศึกษาพื้นที่ใน “ระดับท้องถิ่น” ผลการวิเคราะห์ก็ควรเชื่อมโยงใน “ระดับชาติ” และใน “ระดับโลก” เป็นต้น

         สำหรับงานวิจัยแบบ “บูรณาการ” เป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ 2 ศาสตร์เป็นต้นไปที่มีความแตกต่างกัน อาจต่างภายในสาขาย่อย เช่น “รัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง” กับ “รัฐศาสตร์ สาขาการต่างประเทศ” หรือต่างกันแบบข้ามสายวิชาการ เช่น “รัฐศาสตร์” กับ “เศรษฐศาสตร์” “รัฐศาสตร์”กับ “วิทยาศาสตร์” เป็นต้น เพราะจะทำให้เกิดการข้ามพรมแดนความรู้ และเกิดองค์ความรู้ใหม่อย่างแท้จริง และเมื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต้องสามารถตีพิมพ์ได้ในวารสารของทั้ง 2 ศาสตร์ ดังนั้น เช่นเดียวกับการทำงานวิจัยข้ามชาติ ในการทำงานวิจัยเชิงบูรณาการ นักวิจัยควรมีตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปที่มีความรู้ความสามารถต่างกัน เพื่อที่จะสามารถเติมเต็มความรู้ให้แก่กันให้สามารถทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ ระเบียบวิธีวิจัย กรอบแนวคิด ควรใช้ตามแนวคิดของทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลการวิจัย ก่อให้เกิดความรู้ใหม่อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การทำงานวิจัยเชิงบูรณาการมีความเสี่ยงที่จะทำไม่สำเร็จ เสียหายเยอะ เพราะการบูรณาการความรู้ของแต่ละศาสตร์ที่มีความแตกต่างกันมากมีฐานคิดที่ไม่เหมือนกันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งอาจมีสูง

          จะเห็นว่าการทำงานวิจัยแบบ “ข้ามชาติ” และแบบ “บูรณาการ” มีความน่าสนใจและความท้าทายไม่น้อยเลยทีเดียว ในอนาคตข้างหน้าเราอาจได้เห็นการทำวิจัยของสาขารัฐศาสตร์กับสาขาที่ไม่น่าจะเกี่ยวกันได้ เช่น รัฐศาสตร์กับการแพทย์ เป็นต้น 

          ครั้งหน้า Direk’s Talk จะเก็บตกเรื่องอะไรมาฝากนั้น คอยติดตาม ตอนต่อไปนะคะ

 
 
บทความอื่น ๆ ในหมวด
"ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ"
"Reimaging Thailand: ฟื้นฟู ปูฐาน ทะยานเดิน"
“การวิจัย: จากการแสวงหาองค์ความรู้ สู่การใช้ประโยชน์”
"การวิจัย คืออะไร?"
“รู้จักศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม”
 

จำนวนคนอ่าน 3044 คน จำนวนคนโหวต 2 คน
 
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอบทความนี้
ควรปรับปรุง ดีมาก
  1 2 3 4 5  
1 2 3 4 5
 


 
 
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555